เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดวันที่ 10 ธันวาคม ก็เลยเส้นตายที่กำหนดเอาไว้ว่าจะบุกจับกุม พระเทพญาณมหามุนี หรือ “พระธัมมชโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไปอีกหนึ่งเส้นตายแล้ว โดยเส้นตายล่าสุดดังกล่าวถูกกำหนดโดยฝ่ายตำรวจ คือ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นผู้กำกับดูแลคดี
อย่างไรก็ดี เมื่อมีเส้นตายใหม่ อีกด้านหนึ่งมันก็มีความเคลื่อนไหวใหม่เกิดขึ้นมาอีกเช่นเดียวกัน นั่นคือ ข่าวที่พยายามแสดงให้เห็นว่าจะมีการบุกเข้าจับกุม “ธัมมชโย” ในวัดพระธรรมกาย ซึ่งตามข่าวระบุว่าอาจจะเป็นตอนเช้าตรู่ วันที่ 13 ธันวาคม
โดยพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่ ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม ผ่านมา โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์หลังจากการหารือกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ย้ำให้ตำรวจทำตามที่ดีเอสไอร้องขอ เพื่อวางแผนจับกุมพระธัมมชโย ว่าเป็นการประชุมเพื่อทราบข้อมูลว่าหน่วยงานไหนสนับสนุนด้านอะไรบ้าง ซึ่งการวางกำลังเพื่อเตรียมเข้าจับกุมพระธัมมชโย ยังไม่เสร็จ แต่ไม่ว่าทางพระธัมมชโย จะหนีไปส่วนใดของประเทศไทย ทางเจ้าหน้าที่ต้องตามจับมาให้ได้ ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อหารือในครั้งต่อไป ในวันนี้ (12 ธ.ค.)
สำหรับกระแสข่าวจะนำกำลังเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายในวันอังคารนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตอบว่า ยังไม่ทราบว่าจะเข้าตรวจค้นในวันไหน แต่ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว แต่ถ้าลูกศิษย์คนไหนต้องเดินทางเข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่าอย่าขัดขวางการทำงาน ทางเจ้าหน้าที่จะใช้กระบวนทางกฎหมายอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ จะเรียกประชุมวางแผนอีกรอบที่ บช.ภ.1 มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นแผนปฏิบัติการจะมีทั้งหมด 15 ชุด แบ่งเป็นตำรวจ 15 กองร้อย กองร้อยละ 150 นาย ประมาณ 2,250 นาย ฝั่งดีเอสไอ อธิบดีดีเอสไอได้สั่งระดมเจ้าหน้าที่ทุกสำนัก จัดกำลังกองร้อยย่อย 15 กองร้อย กองร้อยละ 10 นาย ประมาณ 150 นาย นอกนั้นเป็นเป็นหน่วยเสริมจากทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้มีรายงานว่าจะมีการเข้าบุกวัดในเช้าตรู่วันที่ 13 ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ เป็น ผบ.เหตุการณ์ ในการสั่งการเหมือนการบุกค้นวัดพระธรรมกายครั้งแรก
นอกเหนือจากนี้ ยังมีคำสั่งจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ให้จังหวัดในสังกัด เตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน โดยให้จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง และลพบุรี จังหวัดละ 2 กองร้อย จังหวัดสิงห์บุรี และชัยนาท จังหวัดละ 1 กองร้อย โดยให้ จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรี อยุธยา สระบุรี เตรียมรถขยายเสียงจังหวัดละ 1 คัน และเตรียมรถตู้จังหวัดละ 10 คัน
ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ทางอธิบดีดีเอสไอได้มีคำสั่งเรื่องการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าประจำพื้นที่รอบวัดพระธรรมกาย ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตลอด 24 ชม. เพื่อติดตามดูความเคลื่อนไหวต่างๆ และปิดสกัดไม่ให้คนหรือมวลชนใหม่เดินทางเข้าไปเพิ่มภายในวัด แต่จะไม่ปิดกั้นคนที่อยู่ในวัดให้สามารถออกมาได้ โดยมีจุดตรวจสกัด 5 จุด คือ 1. บริเวณหน้าประตู 7 2. ถนนมงคลเศรษฐี บริเวณประตู 5-6 3. ถนนมงคลเศรษฐี เลียบคลองแอนก่อนถึงประตู 5-6 4.ถนนมงคลเศรษฐีหน้าประตู 15 และ 5. ประตู 4 ถนนเลียบคลองสาม หลังจากนั้นจะรอความชัดเจนภายหลังการประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.นี้อีกครั้ง รวมไปถึงมีหนังสือด่วนให้ทุกหน่วยงานด้านพยาบาล การแพทย์ เตรียมความพร้อม 24 ชม. ตั้งแต่คืนวันเสาร์ เป็นต้นไป
พิจารณาจากรายงานข่าวข้างต้น ทำให้เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าน่าจะมีการบุกเข้าจับกุมในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ โดยเป็นการสนธิกำลังกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ดีเอสไอ ตำรวจ ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง รวมไปถึงเตรียมแพทย์และพยาบาล เอาไว้พร้อมสรรพ
แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของทางการ ท่าทีของในระดับนโยบาย ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เร่งรัดเปิดทางให้เต็มที่ รวมไปถึงมีการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องดีเอ็มซีของวัดพระธรรมกาย ที่ดีเอสไอระบุว่าปลุกระดมมวลชนมาขัดขวางการจับกุม
แม้ว่าคราวนี้จะดูขึงขังเป็นจริงเป็นจัง และเป็นไปได้มากที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอดูในวันที่ 13 ธันวาคมนี้เสียก่อน ว่าจะจับจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้สังคมได้เห็นว่า ฝ่ายทางการไม่ได้อยู่นิ่งเฉยอะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ดี หากให้คาดการณ์กันล่วงหน้าหากมีการจับกุม ธัมมชโย เกิดขึ้นจริง นั่นก็หมายความว่า โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวย่อมมีน้อยมาก เพราะนี่ไม่ใช่การมอบตัว แต่ถูกจับกุมมีแนวโน้มสูงที่จะต้องถูก “จับสึก” ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ้นสภาพความเป็นพระสงฆ์ที่พฤตินัยและนิตินัยโดยสมบูรณ์ ซึ่งอย่างที่บอกตั้งแต่แรกนานแล้วว่า เวลานี้มันเลยขั้นตอนการเจรจาเพื่อขอมอบตัวและประกันตัวไปแล้ว มีทางเลือกแค่ว่าจะหนีหรือไม่หนี เท่านั้น
หากไม่หนีจะยอมให้จับกุมอยู่ภายในวัด หรือจะมีการระดมมวลชนมาเป็นโล่มนุษย์มาขัดขวางหรือไม่ ดังนั้นนาทีนี้ก็ต้องถือว่าทั้งสองฝ่าย คือ ธัมมชโย กับตำรวจ ดีเอสไอ รวมไปถึงรัฐบาล ต่างก็มีความกดดันไม่แพ้กัน ฝ่ายแรกก็น่าจะรู้ว่าโอกาสถูกจับสึกมีสูง จึงต้องยื้อต้องขวางจนถึงที่สุด ขณะที่ฝ่ายหลังถูกสังคมเฝ้ามองด้วยความกดดันในเรื่องความเสมอภาคทางกฎหมาย กระทบต่อความศรัทธาและความเชื่อมั่น มันจึงดูเหมือน “เอาจริง” กว่าทุกครั้ง
แต่ถ้าแยกโฟกัสมาเฉพาะฝ่ายธัมมชโย นาทีนี้หนทางแคบลงทุกที และเดินเกมพลาดที่เลือกใช้วิธีขัดขืน คิดใช้มวลชนกดดันรัฐเหมือนในอดีต โดยไม่คิดว่าบรรยากาศและสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว และสิ่งที่น่าติดตามก็คือเมื่อถึงเวลาจะเหลือใครบ้างที่ออกมาขวาง เพราะนั่นเท่ากับทำผิดอาญาถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมไปอีก!