เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ไม่รู้ว่าสังคมกำลังจับตามองคดีใดมากกว่ากันแล้ว ระหว่างคดีของนายบอล-กฤษณะ อมิตรสูญ แฟนของดาราสาว ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อคดีรุมทำร้ายลูกชายผู้บัญชาการมลฑลทหารบกที่ 38 จังหวัดน่าน กับคดี “ฟอกเงิน และรับของโจร” และคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ สองคดีที่ พระเทพญานมุณี หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกศาลอนุมัติหมายจับรวม 3 หมายจับไปแล้ว
ล่าสุดทางตำรวจยังแจ้งความดำเนินคดีต่อเนื่องกับพระทัตตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความสูญเสียแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และมาตรา 189 ฐานผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษโดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือช่วยผู้นั้นกระทำการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เพราะนอกจากกระแสที่ผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับดาราชื่อดังทำให้สังคมจับตามองและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา อีกทั้งคดีแรกยังเกี่ยวข้องกับ “ลูกชายนายพล” มันก็ยิ่งเป็นที่สนใจเป็นทวีคูณ แต่ถึงอย่างไรในทางคดีก็ถือว่ามีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วแบบเป็นรายวัน อย่างน้อยก็ในเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมดยกชุด แม้ว่ายังอยู่ในขั้นรวบรวมหลักฐาน เสาะหาพยานในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม แต่ทุกอย่างถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก คืบหน้าและกระตือรือร้นกันในแบบรายวัน ล่าสุดถึงขั้นมีการพิจารณาอาจย้ายคดีมาขึ้นกับตำรวจกองปราบปรามกันก็มี ตามข่าวระบุว่าฝ่ายผู้เสียหายไม่สบายใจและไม่ค่อยมั่นใจในการทำคดีของตำรวจท้องที่ในจังหวัดเชียงใหม่
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีรายงานอีกว่าทางผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ได้สั่งการให้มีการสืบสวนเส้นทางการเงินของนายบอล ผู้ต้องหารายสำคัญดังกล่าวโดยให้สืบย้อนลงไปตั้งแต่ภาคใต้ที่ผู้ต้องหาเคยทำงานอยู่มาจนถึงภาคเหนือที่มาทำธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน ตามข่าวยังระบุว่าให้ตรวจสอบในเรื่องการปล่อยเงินกู้อีกด้วย
แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีย่อมต้องน่าชื่นชมในความเอาจริงเอาจังที่สามารถทำคดีให้คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าหากจับความรู้สึกของฝ่ายผู้เสียหายอาจยังไม่ประทับใจนัก เนื่องจากยังมีความคลางแคลงใจอยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณาจากความรู้สึกเท่าที่เห็นก็ถือว่ามีความคืบหน้าและกระตือรือร้นทีเดียว อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าหากมีคดีเกิดขึ้น มีหมายจับออกมาตำรวจก็ต้องหาทางกดดันให้ผู้ต้องหามอบตัวหรือจับกุมมาดำเนินคดีจนได้ ซึ่งคดีนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงมาตรฐานดังกล่าวออกมาให้เห็น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากคดีรุมทำร้ายลูกนายพลแล้วก็ต้องมาเปรียบเทียบกับคดีของ “ธัมมชโย” ที่ถูกออกหมายจับรวมทั้งหมดในเวลานี้ถึง 3 หมายจับ แต่เวลาผ่านมาถึง 4-5 เดือนทุกอย่างก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีเบาะแสรับรูักันว่าผู้ต้องหาหลบอยู่ที่ใด เพราะสิ่งที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำได้ก็คือการขอเจรจากับผู้ต้องหาขอให้มามอบตัว แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ามอบตัวแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมีคนรอบข้างยังอ้างว่า “ธัมมชโยไม่ผิด” เสียอีก
แม้ว่าคดีเก่าของ “ธัมมชโย” ยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากมีการขีดเส้นตายแบบถอยร่นออกไปเรื่อยๆ เพราะหลังสุดฟังจากปากของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าจะรอไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคมนี้ แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คงพอเดาเหตุการณ์ได้ดีว่าจะมีการจับกุมเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็มีคดีใหม่เกิดขึ้นอีก นั่นคือการดำเนินคดีต่อพระทัตตชีโว รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีให้ที่พักพิงผู้ต้องหาตามหมายจับ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ความหมายต่อจากนี้ก็คือ หากผู้ต้องหารายนี้ไม่มาให้ปากคำก็จะออกหมายเรียกไปสามครั้ง หากยังไม่มาก็ออกหมายจับ หากให้เดาก็เชื่อว่าน่าจะไปถึงขั้นนั้นคือหมายจับ แต่คำถามก็คือ “แล้วไง?” เพราะถ้าผู้ต้องหาไม่มอบตัว เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีการเจรจาขอร้องให้มอบตัว และยื้อกันอีกจนน่าเบื่อหน่าย
แต่ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากสังคมที่เฝ้ามองฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่รักษากฎหมาย มากกว่าใคร เพราะเมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้วเหตุผลที่อ้างว่ายังไม่จับกุมธัมมชโย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจเกิดการปะทะจนเกิดการสูญเสีย แม้ว่าเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นแบบนั้นได้ แต่คำถามก็คือ “มาตรฐานทางกฎหมาย” จะมีการอธิบายอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับความเอาจริงเอาจังกับคดีรุมกระทืบลูกนายพลของนายบอล กฤษณะ คนนั้นที่มีการขยายผลออกไปอย่างรวดเร็ว!