นายกรัฐมนตรี กำชับแก้ปัญหาน้ำต้องทำทั้งระบบ พร้อมเน้นให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ เร่งสร้างแผนที่ครอบคลุมเพื่อให้หน่วยงานอื่น และประชาชนทำงานต่อได้ ส่วนมาตรการรองรับภัยแล้ง ให้ทำ 5 แนวทางของกระทรวงเกษตรฯ
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (23 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์น้ำ ในภาพรวมจะดีกว่าปี 2558 ร้อยละ 20
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงว่า นายกฯ ได้เน้นให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ว่า ต้องมีระบบการกระจายน้ำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน มีน้ำมั่นคงในภาคการผลิต โดยทุกส่วนราชการต้องปรับการบริหารงบประมาณ เพื่อให้มี ระบบกระจายน้ำในทุกๆ แหล่งน้ำให้เกิดการใช้ประโยชน์ ได้อย่างสมดุล
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้สามารถรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจาก 3,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 4,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดความเสี่ยงกรณีน้ำ หลากในอนาคตจะเกิดถี่ขึ้น 3 - 7 ปี/ครั้ง
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สำหรับมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงปี 2559 - 2560 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามแนวทางที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2. มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 4. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 5. มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ เกษตรกรประสบภัย
นอกจากนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้มีการปรับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สร้างความเข้มแข็ง เน้นแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ