xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เตือน กมธ.โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ผิด ม.157 ละเมิดจริยธรรม สนช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต สปช.เตือนกรรมาธิการฯ หากโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ทั้งที่ยังไม่แก้ไขให้สอดคล้องกับผลศึกษาของ สนช.เอง ในประเด็นจุดอ่อนและจุดรั่วไหลการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน โดย คตง.และกรรมการสิทธิฯ ได้เตือนแล้ว จะเข้าข่ายผิด ม.157 โทษสูงสุดประหารชีวิต แถมละเมิดจริยธรรมของ สนช.อีก 6 ข้อ

วันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.11 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล วันนี้ (21 พ.ย. 2559) เป็นวันชี้ขาดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะตัดสินใจโหวตว่าจะส่งคืนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขหรือไม่ เนื่องจากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีสมาชิก สนช.ขอแปรญัตตินอกหลักการของร่างกฎหมายเป็นจำนวนมากเพราะร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีส่งมาไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของ สนช.ตรงประเด็นจุดอ่อน และจุดรั่วไหลของรายได้แผ่นดินซึ่งประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)ได้ทักท้วงไว้ หากไม่มีการแก้ไขหลักการ ย่อมทำให้การขอแปรญัตติของสมาชิก สนช.ไม่อาจกระทำได้

หากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโหวตว่า ไม่ส่งคืนให้คณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปแก้ไขหลักการให้เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาจุดอ่อนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของ สนช.เองแล้ว คณะกรรมาธิการผู้โหวตให้เดินหน้าต่อไป จนเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจมีความผิดได้

ท่านกรรมาธิการที่โหวตให้ผ่านในขั้นตอนนี้โดยไม่แก้ไข ทั้งที่รับทราบข้อเท็จจริงจากรายงานการศึกษาของตนเอง และมีประธานองค์กรอิสระถึง 2 องค์กรทักท้วงไว้ สมาชิกที่ยังโหวตให้ผ่านก็อาจจะเข้าข่ายจงใจเล็งเห็นผลที่จะทำให้รัฐเสียหาย อาจจะเป็นการกระทำที่ละเมิดจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติเอง ในข้อ 8, 15, 17, 18, 21 และ 25 ซึ่งแต่ละข้อมีเนื้อหา ดังนี้

“ข้อ ๘ สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องปฏิบัติหน้าที่และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีความเป็นอิสระ มีจิตสํานึกที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อประโยชน์ ของส่วนรวมและประเทศชาติ มีสํานึกในบทบาทหน้าที่ และดํารงไว้ซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสภา

ข้อ ๑๕ สมาชิกและกรรมาธิการพึงให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่ใช้หรือไม่บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือวิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้ผู้อื่น หรือประชาชนเข้าใจผิด หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่นใด

ข้อ ๑๗ สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องประพฤติและปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธา และเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ประชาชน

ข้อ ๑๘ สมาชิกและกรรมาธิการต้องให้ความสําคัญในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ของประชาชน ทั้งต้องปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ ๒๑ สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อย่างเคร่งครัด และจักต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรม

ข้อ ๒๕ สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยอาศัยตําแหน่งหน้าที่ และไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส และบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย

นอกจากผิดจริยธรรมแล้ว กรรมธิการที่โหวตผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังที่มีการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ว่า “มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”

“หากมีการกระทำที่เห็นว่าท่านกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้เข้าข่ายการกระทำผิด ดังได้แจกแจงไว้แล้ว ประชาชนก็สามารถดำเนินการร้องเรียนท่านเหล่านั้นตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ต่อไป” น.ส.รสนาระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น