xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ย้ำเวทีโลก รธน.ใหม่เท่าเทียมทางเพศ ยึดหลักสิทธิฯ ปฏิบัติต่อคนหนีเข้าเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตัวแทน สนช.ร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ย้ำเวทีโลก รัฐธรรมนูญใหม่รับรองความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมยืนยันไทยปฏิบัติต่อคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดยนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฯ เข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 24 (The 24th Forum of Women Parliamentarians) ในการนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมอภิปรายต่อร่างข้อมติเรื่อง “เสรีภาพของสตรีและการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างเต็มที่ ปลอดภัย และปราศจากการแทรกแซง : การสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างชายและหญิงในการบรรลุวัตถุประสงค์นี้ (The freedom of women to participate in political process fully, safely and without interference : Building partnerships between men and women to achieve this objective)” โดยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคมนั้นมีบทบัญญัติที่รับรองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศรวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองดูแลผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส นอกจากนั้นประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติ

ส่วนในช่วงเวลา 14.30-17.30 น. นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้กล่าวในการอภิปรายย่อยหัวข้อ “การประกันสิทธิและอนาคตของสตรีและเด็กหญิงในห้วงเวลาแห่งสงครามและความขัดแย้ง” (Securing the rights and future of women and girls during war and conflict) ว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งเรียกว่า “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” ประเทศไทยปฏิบัติต่อคนกลุ่มดังกล่าวตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยการให้ที่พักชั่วคราว จัดให้มีการสาธารณสุขและการศึกษา นอกจากนั้นแล้ว คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะสตรีและเด็กยังได้รับการฝึกอาชีพให้มีความรู้ด้านการเกษตรเพื่อให้สามารถบริโภคผลผลิตที่ตนปลูกขึ้นเอง อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยคำนึงถึงหลักการสามประการ คือความสมัครใจ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีของผู้หนีภัยจากการสู้รบด้วยและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งแต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรประชาคมโลกและทุกภาคส่วนซึ่งประเทศไทยก็จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น