xs
xsm
sm
md
lg

มหาดไทย จี้ อปท.เปิดข้อมูล “โรงไฟฟ้าขยะ” รับลูก กกพ. รับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ สิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทย จี้ อปท.เผยข้อมูล “โครงการจำกัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ โรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย” อย่างละเอียด รับลูก กกพ.ที่กำลังจะออกระเบียบประกาศ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนขึ้นมาใหม่ จำนวน 100 เมกะวัตต์ ให้ทันสิ้นปีนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสำหรับขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2579

วันนี้ (20 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลแผนงาน/โครงการจำกัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จากเชื้อเพลิง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ โดยให้ อปท. ระบุถึงที่ตั้งโครงการ/พิกัดโครงการ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน พื้นที่รวมของโครงการกำจัดขยะมูลฝอยต่อไร่ แหล่งที่มาของขยะมูลฝอย ปริมาณขยะต่อตัวต่อวัน ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่ฝังกลบต่อตัน เทคโนโลยีที่เลือกใช้ระยะห่างจากเสาไฟฟ้าแรงสูง (กิโลเมตร) จุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ความพร้อมทางกฎหมาย การรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ และวันเริ่มดำเนินการ

สาเหตุที่กระทรวงมหาดไทยเร่งให้ดำเนินการรายงาน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน กำลังจะดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยเฉพาะ อปท.ที่จะมีโครงการลักษณะนี้ในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 (เออีดีพี) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสำหรับขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2579 โดยในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (พีพีเอ) ไปแล้วจำนวน 400 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ประกอบการที่ได้พีพีเอไปแล้ว ประมาณ 200 เมกะวัตต์ กำลังจะคืนพีพีเอ เนื่องจากปริมาณขยะที่มีอยู่ไม่พอที่จะตั้งโรงไฟฟ้าได้ จึงต้องรับทราบข้อมูลแผนงาน/โครงการจำกัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จากเชื้อเพลิง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ ยังพบว่าที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดจากอดีตที่การให้ “พีพีเอ” จะพิจารณาจากการมีหนังสือบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับทางท้องถิ่นในการจัดหาขยะไว้เท่านั้น ประกอบกับก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้ผู้ประกอบการที่ได้พีพีเอไปแล้ว ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหรือซีโอดี ภายในปี 2560 หากเลยจากนี้ไปก็สามารถบอกยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าได้ จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเร่ขายใบอนุญาตหรือพีพีเอเกิดขึ้น จนต่อมามีการประกาศขยายระยะเวลาซีโอดีออกไปเป็นปี 2562 แทน

ขณะที่ กกพ.กำลังจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนขึ้นมาใหม่ จำนวน 100 เมกะวัตต์ ที่จะดำเนินการประมาณปลายปี 2559 นี้ ทาง กกพ.จึงได้ปิดช่องโหว่ โดยผู้ที่จะยื่นเสนอขายไฟฟ้า จะต้องมีสัญญาผูกพันกับท้องถิ่นโดยตรงในการจัดหาขยะป้อนโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี และจะต้องขายไฟฟ้าได้ตามปริมาณที่ยื่นขอ และต้องได้รับการยืนยันจากกระทรวงมหาดไทยด้วย ถึงจะได้รับการพิจารณาหรือผ่านด้านคุณสมบัติ เพื่อเป็นการการันตีว่าแต่ละโรงไฟฟ้าจะมีปริมาณขยะป้อนได้เพียงพอ

ล่าสุดภาครัฐได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเร็วๆ นี้ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะต้องใช้ระยะเวลา 2-2.5 ปี เพื่อให้เข้าระบบการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้ตามกำหนดในปี 2562








กำลังโหลดความคิดเห็น