ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 17 โครงการ ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีเตะถ่วงการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งๆ ลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท
นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ตัวแทนผู้มอบอำนาจจาก ผู้ประกอบการ 17 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และจังหวัดสกลนคร) ได้เดินทางมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
นายคฑายุทธ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ทั้ง 17 โครงการ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เตะถ่วงการซื้อกระแสไฟฟ้าที่เอกชนทำไว้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระหนี้สินมากกว่า 2,000 ล้านบาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารมากว่า 4 ปีแล้ว
“ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ได้รับหนังสือการยกเลิกสัญญาฉบับแรกจาก กกพ. สาเหตุที่ กกพ.จะยกเลิกคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้า ซึ่งเราก็ได้อุทธรณ์ไปว่าเพราะติดปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องแนวเขตพื้นที่ก่อสร้าง แต่การก่อสร้างก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งตอนที่ กกพ.ทำหนังสือมานั้นบางโครงการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80-90% จะให้หยุดแล้วยกเลิกสัญญาได้อย่างไร และ กฟภ.ในฐานะคู่สัญญาก็สรุปว่าความล่าช้าเป็นเหตุสุดวิสัย กฟภ.จึงยังไม่มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา”
ขณะเดียวกัน กกพ.อนุญาตให้ 3 บริษัท คือ 1. บจก.แม่โขง โซล่าพาวเวอร์ 2. บจก.สมภูมิโซล่าเพาเวอร์ และ 3. หจก.ภูพานเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเดียวกันได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ.ไปแล้ว และได้ราคาซื้อขายเดิมคือ 11 บาท (รวมค่าแอดเดอร์) จึงคิดว่า กกพ.ใช้หลักอะไรมาพิจารณา แบบนี้เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่ ส่วนอีก 17 โครงการไม่พิจารณาและยังให้ลดราคารับซื้อไฟฟ้าลงมาเหลือประมาณ 5.377 บาทต่อหน่วย ซึ่งราคานี้รับไม่ได้เพราะเมื่อตอนที่ลงทุนวัสดุอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ราคาสูงกว่าวันนี้กว่าเท่าตัว
ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของ กกพ.ว่ามีหน้าที่หรืออำนาจกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์หรือไม่ 2. เหตุใด 3 โครงการได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.แล้ว ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ 17 โครงการ และ 3. เลขาธิการ กกพ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 เรื่องแจ้งเงื่อนไขประกอบการออกใบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต พร้อมแนบบันทึกรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไข การรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งมีเนื้อความระบุเงื่อนไขให้บริษัทต้องยอมรับราคาอัตราค่าซื้อขายไฟฟ้าถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่