กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่หลบหนีคดีในต่างประเทศ MGR Online รวบรวมความเคลื่อนไหวของบุคคลดังกล่าวที่ผ่านมา และล่าสุด ดังนี้
1. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีกล่าวหาว่าเขียนบทความเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ และเป็นแขกรับเชิญรายการโทรทัศน์ วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมามีคนร้ายบุกยิงใส่บ้านนายสมศักดิ์ ในหมู่บ้านนันทวรรณ ซอยคู้บอน 27 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ต้องย้ายที่พักหลายครั้ง กระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 นายสมศักดิ์หลบหนีออกจากประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ ไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะหลบหนีไปยังประเทศฝรั่งเศส และได้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” จากรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต นายสมศักดิ์ ได้เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul
2. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อนหน้านี้ ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ช่วงสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ก่อนมาปรากฏตัวเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการการต่างประเทศ กระทั่งได้หลบหนีออกนอกประเทศ หลังถูกออกหมายจับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังเป็นประธานจัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2556 ที่มีการนำเสนอละครเวที ล้อเลียนและบิดเบือนสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการเมือง ก่อนที่จะหลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 แล้วบินไปฝรั่งเศสเมื่อเดือน มิ.ย. 2557 ก่อนจะได้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” จากรัฐบาลฝรั่งเศสในเดือน พ.ย. 2557
3. นายศรันย์ ฉุยฉาย (ฉายา อั้ม เนโกะ) อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีหลังเจ้าของรายการทีวีดาวเทียมรายหนึ่ง แจ้งความดำเนินคดีกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูงด้วยถ้อยคำที่รุนแรงสัมภาษณ์ ต่อมาถูก คสช. ออกคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว แต่ไม่ได้เดินทางไปรายงานตัวตามคำสั่ง และหลบหนีโดยขอลี้ภัยทางการเมือง ศาลจึงอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ออกหมายจับเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 2558
อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต นายศรันย์ ได้ใช้เฟซบุ๊ก Aum Neko วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวด้วยข้อความที่หยาบคาย
4. นายจักรภพ เพ็ญแข - อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกดำเนินคดีหลังกล่าวปาฐกถาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อเดือนกันยายน 2550 ก่อนหน้านี้ ได้หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา แต่ต่อมา นายกอย เกือง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ออกมาเผยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2557 ว่า นายจักรภพ ไม่ได้อยู่ในกัมพูชาแล้ว ก่อนที่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2557 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ประกาศก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยมีนายจักรภพได้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ คาดว่า พำนักอยู่ในประเทศแถบยุโรป
5. นายใจลส์ ใจ อึ้งภากรณ์ - อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกดำเนินคดีหลังตีพิมพ์หนังสือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2552 กระทั่งวันที่ 10 ก.พ. 2552 นายไชยยันต์ ไชยพร ขณะที่เป็นหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นายใจทำเรื่องถึงคณบดีรัฐศาสตร์ขอลาหยุดไปธุระ หรือสัมมนาที่อังกฤษ แต่กระบวนการทำเรื่องขอลาหยุดยังไม่เรียบร้อย จึงยังไม่ได้รับการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน พบว่า ได้หลบหนีคดีออกจากประเทศไทยไปยังสหราชอาณาจักรแล้ว
6. น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ (โรส) - คนไทยที่ทำงานเป็นช่างทำผมที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ถ่ายคลิปวิดีโอกล่าวพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง กระทั่ง นายสุรพงศ์ อมรพัฒน์ และ นางสมจินตนา อมรพัฒน์ บิดาและมารดาของ น.ส.ฉัตรวดี แจ้งความดำเนินคดีกับกองปราบปราม เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 เนื่องจากตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 เป็นต้นมา ครอบครัวได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน ถูกต่อว่า ถูกโทรศัพท์คุกคาม เมื่อติดต่อลูกสาวได้บ้างไม่ได้บ้าง อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เคยบอกให้ลูกหยุดกระทำการแบบนี้ แต่ลูกก็ไม่ฟัง ปัจจุบัน น.ส.ฉัตรวดี แต่งงานกับสามีชาวอังกฤษ ได้สัญชาติอังกฤษ ลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่นมานานแล้ว
7. นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน (ฉายา ชูพงศ์ เปลี่ยนระบอบ) เป็นแกนนำคนเสื้อแดงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยก่อนหน้านี้ ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายครั้ง เช่น การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศกรณีการรัฐประหารปี 2549 หรือกรณีปาฐกถาที่สหรัฐอเมริกา กับ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นต้น นอกจากนี้ นายชูพงศ์ ยังเป็นผู้จัดรายการ และเผยแพร่คลิปเสียง กับคลิปวิดีโอวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ผ่านโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันยังคงพักอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
8. น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ หรือ อาจารย์หวาน อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูก นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งความดำเนินคดีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2557 หลังโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊ก หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2557 ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ น.ส.สุดา ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จึงได้หลบหนีออกนอกประเทศไปพำนักที่ประเทศลาว ก่อนบินข้ามไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
9. นายเอกภพ เหลือรา (ฉายา ตั้ง อาชีวะ) - แกนนำกลุ่มอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีหลังขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน กระทั่งวันที่ 13 ธ.ค. 2556 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายเอกภพ เขาพร้อมกับแฟนสาวได้ลักลอบหลบหนีออกจากประเทศไทย เข้าไปซ่อนตัวในเมืองสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2557 สำนักงานผู้ลี้ภัย ของกองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยกัมพูชา เปิดเผยว่า นายเอกภพได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยต่อรัฐบาลกัมพูชา
ต่อมานายเอกภพได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะผู้ลี้ภัย (Refugee) เนื่องจากทางสำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) สำนักงานกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ ได้เป็นหน่วยงานที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่นายเอกภพ เมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่เขาได้ลักลอบหลบหนีคดีอาญาออกจากประเทศไทย เข้าไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์นั้น สามารถเข้ามาพำนักในนิวซีแลนด์ได้ภายใต้ระบบโควตาผู้ลี้ภัย ซึ่งข้อตกลงระหว่างสหประชาชาติกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่สหประชาชาติมีโควตาไปอาศัยในประเทศนิวซีแลนด์ได้ปีละ 750 คน
10. นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน ถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2556 หลังเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ นางจรรยา จึงทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองต่อสำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) ที่ประเทศฟินแลนด์ ก่อนที่แผนกตรวจคนเข้าเมืองฟินแลนด์อนุญาตให้อยู่ฟินแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง และให้บัตรประจำตัวผู้อยู่อาศัยถาวรที่มีระยะเวลาครอบคลุม 4 ปี และยังได้หนังสือเดินทางฟินแลนด์
11. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2554 หลังจากการปราศรัยบริเวณใกล้ท้องสนามหลวง ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน ต่อมาวันที่ 3 ต.ค. 2556 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่หลังจากศาลทหารกรุงเทพฯ ออกหมายจับ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จึงได้หลบหนีออกนอกประเทศไปพำนักที่ประเทศลาว
นอกจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น ยังมีอีกหลายคนที่ยังหลบหนีคดี ทั้งคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่แสดงพฤติกรรมหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และหลบหนีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคน อาทิ
ประเทศสหรัฐอเมริกา - นายเสน่ห์ ถิ่นแสน (ฉายา เพียงดิน รักไท), นายมนูญ ชัยชนะ (ฉายา เอนก ซานฟราน), นายริชาร์ด สายสมร, นายจุติเทพ (เลอพงษ์) วิไชยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน ส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนไหวโดยการจัดรายการวิทยุ แล้วลงคลิปเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์
ประเทศออสเตรเลีย - นายองอาจ ธนกมลนันท์ (ฉายา อาคม ซิดนีย์) เคลื่อนไหวโดยการจัดรายการวิทยุ แล้วลงคลิปเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์
ประเทศลาว - นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจเบียร์) แกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่, นายวัฒน์ วรรลยางกูร, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋), นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ฉายา ชีพ ชูชัย), นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล (ฉายา หนุ่ม เรดนนท์), นายพิพัฒน์ พรรณสุวรรณ, นายนิธิวัต วรรณศิริ, นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ (ฉายา โยนก ไฟเย็น), นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง (ฉายา อุ๊ ไฟเย็น), นายไตรรงค์ สินสืบวงศ์ (ฉายา ขุนทอง ไฟเย็น), นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ประเทศญี่ปุ่น - นายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์
ประเทศสเปน - นายอิมิลิเอ เอสเทแบบ
ประเทศแคนาดา - พ.ต.อ.หญิง ณหัทย ตัญญะ อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เปิดเผยความคืบหน้า ว่า เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) ได้ลงนามไปถึงเอกอัครราชทูตประเทศนั้น ๆ ประจำประเทศไทย จำนวน 7 ประเทศ มีประมาณ 19 ราย ที่มีการเคลื่อนไหวและกระทำผิดเพื่อแจ้งให้เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยทั้ง 7 ประเทศ ได้รับทราบ
โดยได้ส่งหนังสือ พร้อมบอกที่อยู่ตำแหน่งที่พักของผู้กระทำผิดในประเทศนั้น ๆ เพื่อกำกับดูแลไม่ให้สิ่งเหล่านี้มากระทบจิตใจของคนไทย รวมทั้งได้ส่งหนังสือเป็นระยะผ่านกระทรวงต่างประเทศ โดยมี พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ทำหน้าที่สรุปรวบรวมเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งให้เอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ
ขณะที่ นายศรันย์ ฉุยฉาย ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลฝรั่งเศสในเดือน พ.ย. 2557 เปิดเผยกับเฟซบุ๊ก บีบีซีไทย ระบุว่า ได้รับการข่มขู่และต้องเปลี่ยนที่พัก เนื่องจากมีผู้เผยแพร่สถานที่พัก และสถาบันที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส และได้ไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อเอาผิดในทางอาญาว่ามีผู้ข่มขู่คุกคามถึงชีวิต ขณะนี้ครอบครัวทางเมืองไทยซึ่งตัดขาดจากตนได้ถูกข่มขู่เช่นกัน และบิดาติดต่อตนเพื่อให้ยุติการกระทำดังกล่าว