“พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์” อดีต ผอ.เนคเทค พ้นตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หลังยื่นหนังสือลาออก มีผล 16 ก.ย. หลังร่วมผลักดันดิจิตอลอีโคโนมี-บรอดแบนด์ 2 หมื่นล้าน และพลิกฟื้น 2 รัฐวิสาหกิจ
วันนี้ (18 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่าเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 ดังนั้น นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ จึงพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 ตามนัยข้อ 8 (2) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546
สำหรับนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ปัจจุบันยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เคยเป็นผู้อำนวยการเนคเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติอยู่เกือบ 10 ปี ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที โดยได้รับมอบหมายงานที่จะผลักดันดิจิตอลอีโคโนมีโดยเฉพาะ ทั้งโครงการยกระดับบรอดแบนด์ 2 หมื่นล้านบาท และการช่วยพลิกฟื้น 2 รัฐวิสาหกิจใต้สังกัดอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท)
ทั้งนี้ เคยเข้ามาช่วยทำแผนดิจิทัลอีโคโนมี (ดีอี) ตั้งแต่สมัยนายพรชัย รุจิประภา เป็นรัฐมนตรีไอซีที แต่ยังไม่คืบหน้า จนนายอุตตม สาวนายน รมต.ไอซีทีคนปัจจุบันเชิญมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี และร่วมผลักดันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตค. ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 โดยแก้ไขระเบียบฯ ดังกล่าวเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ช่วยรัฐมนตรีจากเดิม 30 คน เป็น 40 คน ให้เข้ามาเร่งรัดและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศ และการกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยจะปฏิบัติภารกิจเฉพาะเรื่องตามที่หมอบหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยให้ถือว่าเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรีที่ต้องดูแลงาน 6 กลุ่ม และสามารถรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีได้ทันที
ในการแก้ไขระเบียบฯ ครั้งนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้ชี้แจงทำเข้าใจต่อสาธารณชน โดยเฉพาะในส่วนค่าตอบแทนและการเพิ่มภารกิจที่มีมากขึ้น ทางรัฐบาลมีการปรับลดค่าตอบแทนในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 จากเดิมที่เคยได้รับเดือนละ 63,800 บาท เป็น 50,000 บาท ซึ่งการเพิ่มจำนวนผู้ช่วยรัฐมนตรีอีก 10 คน ไม่ถือว่าเป็นภาระต่องบประมาณแต่อย่างใด โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบ พ.ศ. 2546 มีวาระ 1 ปี และได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.