ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำ กรธ.ลงนามแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จ่อแก้ไขคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เตรียมถกศาลรัฐธรรมนูญให้ใครเป็นเจ้าภาพแก้ แต่ไม่ต้องใช้ ม.44 ทำ จ่อส่งกฎหมายลูก 2 ฉบับให้ สนช.พิจารณาทันทีที่ รธน.ประกาศใช้ เล็งปรับหน้าที่ กกต.จว.มีงานเฉพาะเลือกตั้ง
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำคณะ กรธ.ลงนามแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนที่จะเริ่มทำงานการประชุมตามปกติ โดยก่อนการประชุมนายมีชัยกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องมาคิดกันเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีการปรับแก้ไข เนื่องจากคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญได้อ้างอิงถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต จึงต้องมีการปรับแก้ไขคำปรารภใหม่โดยจะหารือกับศาลรัฐธรรมนูญว่าฝ่ายคณะรัฐมนตรีหรือ กรธ.จะต้องเป็นผู้แก้ไข แต่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในการแก้ไขเพราะหลักการในการแก้ไขคำปรารภสามารถแก้ไขเหมือนกับการเติมข้อความเพิ่มในส่วนที่ว่างเว้นไว้ในคำปรารภ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับบทบัญญัติมาตราต่างๆ ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ผู้ลงพระปรมาภิไธยคือผู้สำเร็จราชการฯ นั้นก็สามารถทำได้ แต่คำปรารภก็จะไม่ขึ้นต้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่เขียนไป
นายมีชัยกล่าวถึงความคืบหน้าของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันทีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากนี้ กรธ.กำลังพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับหน้าที่ของ กกต.จังหวัด โดยจะให้ทำหน้าที่เมื่อมีการเลือกตั้งแทนการนั่งประจำและกำลังคิดหาวิธีการคัดเลือกและสัดส่วน กกต.จังหวัดว่าจะผสมผสานระหว่างคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่อย่างไร ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมืองถ้ากำหนดให้มีสมาชิกมากก็จะคาดว่าพรรคการเมืองจะสามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการเลือกตั้งได้ทุกเขต