xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ วาระแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มติสภานิติบัญญัติญัติแห่งชาติ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ วาระแรก 175 เสียง งดออกเสียง 4 เผยแก้ไขผู้กระทำความผิดให้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ให้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง แก้โทษพวกผลิต นำเข้า ส่งออกยาประเภท 1 เป็นคุกตลอดชีวิต และปรับ 1-5 ล้าน หรือประหาร

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิก สนช.กับคณะเป็นผู้เสนอ วาระแรกด้วยคะแนน 175 งดออกเสียง 4 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป โดย พล.ร.อ.ศิษฐวัชรชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันมีบทบัญญัติบางส่วนกำหนดว่าผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1, 2, 4, 5 โดยมียาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กำหนดให้ถือว่าเป็นเด็ดขาดว่ากระทำเพื่อจำหน่ายโดยไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ความจริงในคดี

ดังนั้นจึงควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติให้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้ นอกจากนี้ยังปรับปรุงอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 1 ที่กำหนดโทษให้จำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 1 ล้านถึง 5 ล้านบาท หรือประหารชีวิตให้การลงโทษผู้กระทำผิดมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทาง ครม.ได้ขอรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไปพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญตัวแทนกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้แสดงความเห็นโดยเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้พร้อมให้ข้อสังเกตต่อการร่างกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อการปรับปรุงแก้อัตราโทษ อาทิ พล.อ.สิงห์ศึก สิงไพร สมาชิก สนช.อภิปรายว่า การกำหนดโทษให้เบาลงหรือให้สิทธิผู้ต้องหาได้พิสูจน์ เป็นความปรานีถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงต้องกำหนดโทษที่เบาลง

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช.ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ชี้แจงว่า เดิมมีคำพิพากษาศาลฏีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเดินทางออกไปยังประเทศลาวเดินทางกลับมาไทยและนำยาบ้าจำนวน 1.5 เม็ดโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการนำเข้า ศาลก็ไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจำคุกตลอดชีวิต แม้จะรับสารภาพก็จำคุก 25 ปี ซึ่งกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงการนำเข้ามาเพื่ออะไร ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายจึงซอยฐานความผิดให้ชัดเจนขึ้น โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์การทำผิดเพื่อมีการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดของจำเลย ส่วนการแก้ให้กฎหมายเบาลงนั้นเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมให้สังคมมากขึ้น และให้ศาลใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมกับสัดส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งไม่ได้แก้ไขโทษขั้นสูงหรือขั้นต่ำเลย เพียงแต่ซอยฐานความผิดให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการกระทำความผิดของยาเสพติดมีหลายประเภท การกำหนดพฤติการณ์ในการกระทำความผิดโดยถือปริมาณยาเสพติดให้โทษเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ไม่มีไว้เพื่อจำหน่าย









กำลังโหลดความคิดเห็น