นายกฯ เผย แก้ กม. เพิ่มเงินอัดฉีดนักกีฬาคนพิการ ย้อนเพิ่ม 3 - 4 เท่า รายได้มาจากไหน เตรียมเลี้ยงต้อนรับเย็นนี้ แจง ปล่อยน้ำท่วมบางพื้นที่ เหตุรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ เผย มท. สำรวจความเสียหาย 6 แสนไร่แล้ว แจกเงินต้องมีหลักเกณฑ์ แจงประชุมเอซีดี ชู เศรษฐกิจพอเพียง รับกังวล เรื่องความปลอดภัย - ฝนตกน้ำท่วม ในช่วงประชุม
วันนี้ (4 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่นักกีฬาคนพิการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินรางวัลให้แก่นักกีฬาทีมชาติคนพิการ กับนักกีฬาทีมชาติทั่วไป ที่ไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติให้เท่าเทียมกัน ว่า กำลังทำกฎหมายอยู่ ทุกอย่างต้องเป็นกฎหมาย การใช้จ่ายเงิน พ.ร.บ. ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ วันนี้กำลังปรับพ.ร.บ. และด้วยอำนาจที่มีอยู่ตนก็ให้ 2 - 3 เท่าไปแล้ว ต้องเข้าใจว่า กฎหมายให้เท่าไหร่ก็เท่านั้น นักกีฬาอาชีพตนก็จะดูแลเท่าที่จะทำได้ ต้องแก้ไข พ.ร.บ. ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะขอเท่าไหร่ให้เท่านั้น มันได้ไหมเล่า มันมีกติกาอยู่แล้ว ทั้งระดับชาติ ระดับโลก มีเขียนกฎหมายไว้หมด เพียงแต่ตนจะปรับให้สูงขึ้นทำอย่างไร จะไปดูแลวิชาชีพเขาบ้าง บาดเจ็บ พิการ แก่เฒ่า ให้เป็นสวัสดิการเลยได้ไหม เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เราต้องทำอะไรให้มีเหตุมีผล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งวดนี้ตนก็ให้พิเศษอยู่แล้ว ทุกครั้งตั้งแต่ที่ตนเข้ามาเป็นนายกฯให้มากกว่าของเดิมอยู่แล้ว ไปดูได้ไม่สนใจอะไรกันเลย แล้วก็มานั่งขอ ๆ มันไม่ใช่มันต้องดูกติกากฎหมาย ความน่าจะเป็นมันอยู่ตรงไหน ตนก็ยังไม่อยากจะพูดเลยว่ารายรับตนมาจากไหน ถ้าจะเอามากกว่า 3 เท่า 4 เท่า รายได้เอามาจากไหน เอาง่าย ๆ ก็ต้องมีรายได้เพิ่มอีก 3 เท่า แล้ววันนี้ต้องดูแลทั้งการศึกษา สถานพยาบาล คนสูงวัย คนพิการ เกษตรกร อาชีพอิสระ ต้องคิดแบบตน คิดแล้วจะรู้ว่าปัญหาประเทศอยู่ตรงไหน อย่าไปคิดเป็นเสี้ยว ๆ ถามตนเป็นเสี้ยว ๆ แล้วก็ไม่เข้าใจกันอยู่อย่างนี้ แล้วตนพูดไม่ถึงใครก็ตามแล้วไปบอกแสดงว่านายกฯไม่สนใจ มันใช่ที่ไหนเล่า ตนพูดถึง 70 ล้านคน ไม่ว่าจะรวยจะจนก็คนไทย ก็ดูแลตามที่ทำได้กฎหมายว่าอย่างไร ไม่ต้องการคะแนนนิยมอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวลา 18.20 น. วันเดียวกัน (4 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเลี้ยงต้อนรับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬา ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กลับจากกรุงริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ ว่า พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็ลงไปในพื้นที่ ซึ่งปัญหาอยู่ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ ว่า ทำไมน้ำเยอะ ทำไมต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ และตนได้อธิบายว่า ปัญหาน้ำเกิดจากตรงไหน ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน จนถึงภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงต้องมีการทยอยปล่อยน้ำเรื่อย ๆ เพราะน้ำเหนือมีจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ใต้เขื่อน ก็มีการบริหารจัดการระบายน้ำมาตลอด ซึ่งต้องแก้ปัญหาจากข้างบนว่าจะทำอย่างไรน้ำจะไม่ท่วมที่เพาะปลูกการเกษตร ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่เดือดร้อนก็ยังไม่ต้องระบายลงไป ถ้าจำเป็นต้องระบายตั้งแต่ภาคเหนือ แต่ที่ผ่านมา ก็ทยอยจัดการมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า น้ำที่ไหลผ่านเจ้าพระยาเข้ามาข้างในยังรักษาระดับ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ก็ต้องท่วมในบางพื้นที่ เพราะฝนตกหนัก ซึ่งเป็นน้ำนอกเขตชลประทาน และเป็นพื้นที่ต่ำ ในเมื่อปลูกพืชในพื้นที่ต่ำ ก็ต้องระวังเรื่องน้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมี 2 มาตรการ คือ 1. ต้องมีการระบายออกเพื่อไม่ให้ท่วมกว่าเดิมเหมือนปี 2554 โดยการทำพื้นที่แก้มลิง แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากอยู่ในช่วงการเพาะปลูกอยู่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ให้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวแล้ว และได้ชี้แจงว่า หากน้ำไม่มากกว่านี้ ก็ไม่ต้องระบายลงไป ทั้งนี้ จะต้องมีการบริหารจัดการการเพาะปลูกในพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อทยอยการใช้น้ำ สิ่งที่ตนกังวลในตอนนี้ คือ การสร้างความเข้าใจ 2. คนที่ได้รับความเดือดร้อนจะต้องมีมาตรการรองรับการชดเชยที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่พอเพียงในบางพื้นที่ ตรงไหนที่จำเป็นต้องท่วมจะไม่ปล่อยลงไป เพราะจะไปท่วมในพื้นที่ใหญ่นั้น และจะระบายไม่ทัน จึงต้องมีมาตรการสำรอง ต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าเหตุใดจึงต้องปล่อยน้ำให้ท่วมเพราะสาเหตุอะไร ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาทุกเรื่อง
“เพราะเราขาดการบริหารจัดการที่ดีมานานแล้ว วันนี้กำลังแก้ไขต้องทำใหม่ เวลาในการทำใหม่ ก็มีจำกัด ถ้าทุกคนทำตามแผนบริหารจัดการน้ำ ไม่มีความขัดแย้ง ทุกคนยอมรับในกติกา มีได้ มีเสีย ได้น้อยหน่อย เสียน้อยหน่อย ผมว่าน่าจะรับกันได้ ถ้าทุกคนไม่ยอมรับอะไรกันเลย แล้วทำเหมือนเดิมจะกลับไปที่เก่า ผมก็อธิบายด้วยการไปเยี่ยมเขา ทุกอาทิตย์ผมได้รับรายงานสถานน้ำในทุกพื้นที่ ตรงไหนมีความเสียหาย ทุกอย่างมีแผนหมดแล้ว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เขาจะปล่อยน้ำ เขาต้องปล่อยตามแผน ที่ผ่านมา ไม่เคยทำตามแผน แล้วมันท่วมทั้งประเทศจะเอาอย่างไร เลือกเอา” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า พื้นที่ที่ถูกปล่อยน้ำ เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ การชดเชยจะต้องมากขึ้นจากเกณฑ์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ จากการสำรวจทางจิสด้านั้น พบว่า พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนกว่า 600,000 ไร่ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่าจริงตามที่จิสด้าระบุหรือไม่
“ผมไม่ได้บริหารงานแบบคิดเอาเอง รัฐบาลไม่เคยทำ รัฐบาลไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ แต่อยู่ดี ๆ จะให้ผมเอาเงินไปให้ เอาไปแจก ผมไม่ทำ ต้องมีหลักเกณฑ์ ถ้าเราไม่ให้คนรู้จักการเรียนรู้ ก็จะเป็นอยู่แบบเดิม พอน้ำแห้งก็ปลูกข้าวกันอีก ปลูกกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำจะหมด พอใกล้จะหมด ก็ร้องขอว่าน้ำแล้ง ทำไมไม่สอนคนให้พอเพียง ว่า ควรปลูกปีละกี่ครั้ง อันนี่ปลูกคนละ 5 - 6 ครั้ง จะมีน้ำที่ไหน รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใช่ไหม ไม่ใช่เข้ามาเพื่อที่จะบังคับคน เพื่อจะไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าผมเป็นแบบนั้นจะไม่มานั่งอธิบายแบบนี้” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue ) หรือ เอซีดี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8 - 10 ต.ค. ว่า เป็นการประชุมร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้งหมด 34 ประเทศ เป็นการประชุมที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงทั้ง จี 20 และ จี 77 ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ บางประเทศมีการพัฒนาไปแล้ว บางประเทศมีการพัฒนา เป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยเน้นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ต้องเชื่อมโยงด้านความมั่นคง เรื่องความปลอดภัย เรื่องการก่อการร้าย มีการพูดคุยกันหมด หน้าที่ที่สื่อจะต้องถาม คือ พวกเราจะช่วยรัฐบาลได้อย่างไรในการประชุม เอซีดี เราจะต้องเป็นเจ้าภาพที่ดี อย่าให้ใครมาทำผิดกฎหมาย อย่าให้ขยะเกลื่อนเมือง อย่าให้ผู้ร้ายออกมาก่อความไม่เรียบร้อย มันก็ไม่มีเสถียรภาพ วันหน้าเขาก็ไม่มา เมื่อเขาไม่มาเศรษฐกิจก็ล้มเหลว ไม่มีคนมาลงทุน ถามในทางที่สร้างสรรค์
เมื่อถามว่า ประเทศมีการเสนอประเด็นอะไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หารือกันในประเด็นการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเกษตร ตนพูดมา 2 ปีแล้วในเวทีต่างประเทศ ซึ่งแบบอย่างในการแก้ปัญหาต้มยำกุ้ง ตอนแรกพวกเขาก็ไม่เข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงสำคัญตรงไหน ทำให้คนจนลงหรือเปล่า แต่ตอนนี้เขาเข้าใจแล้ว ซึ่งมันนำไปประยุกต์ได้ ไม่อย่างนั้น 20 กว่าประเทศ เขาคงไม่เอาไปทำหรอก ทุกประเทศเขาชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย คนไทยต้องมีการเรียนรู้
“สิ่งที่ผมเป็นกังวล คือ เรื่องความปลอดภัย เรื่องการจราจรที่ติดขัด และเรื่องฝนตกน้ำท่วม ผมคนเดียวจะแก้ไขได้ไหม คนไทยจะต้องช่วยกัน ต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศ ไม่ใช่ทำประโยชน์ให้กับประยุทธ์ ผมทำเพื่อใคร ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ามากวนใจผมตอนนี้ ผมไม่ได้รังเกียจอะไรหรอก อยากจะถามก็ถามมา ตอบได้ก็ตอบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว