นายกรัฐมนตรีฉะพวกจับผิด “บิ๊กป้อม” ใช้งบฯ 20 ล้านบินประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย ท้าใครอยากฟ้องก็เชิญ ยัน “ประวิตร” ไปทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ปัดตั้ง คกก.สอบ เพราะมีหน่วยงานดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนการตั้ง ครม.ส่วนหน้าแก้ปัญหาภาคใต้ เน้นบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ หวังเกิดความสงบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สูงกว่า 20 ล้านบาท ว่าปัญหาทุกวันนี้ทุกเรื่องมันโยงกันทั้งหมด สำหรับข้อวิพากวิจารณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถ้าอยากจะตรวจสอบก็ขอให้ไปตรวจสอบมา เขาชี้แจงได้ก็ชี้แจง ไปดูด้วยว่าเขาทำอะไรกันอย่างไร รายละเอียดก็มีการชี้แจงมาแล้วไม่ใช่หรือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่าย ว่า “โฮ้ย จะไปตั้งด้วยอะไร ทำไมถึงต้องตั้ง” ผู้สื่อข่าวระบุว่าจะได้ความชัดเจนและข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เรื่องนี้ก็เป็นการทำงานของระบบอยู่แล้ว ผมถามว่า 1. การไปประชุมเครื่องบินมีบินตรงหรือไม่ ไม่มีใช่มั้ย จริงๆ แล้วขี้เกียจตอบแทน ไปฟังเขาตอบก็แล้วกัน 2. เขาไปทำประโยชน์หรือเขาไปเที่ยว การไปประชุมก็ต้องดูว่ามีกี่การประชุม ไปคนเดียวพออย่างนั้นหรือ การไปประชุมที่ต่างประเทศจะต้องมีหลายคณะ ก่อนที่ระดับผู้ใหญ่จะประชุมก็จะมีระดับล่างเขาประชุมก่อน อย่ามาจับผิดจับถูกในเรื่องเหล่านี้ ใครอยากฟ้องร้องก็ไปฟ้องร้องเอา ผมไม่ได้อารมณ์เสียอะไรทั้งสิ้น แต่อย่าเอาปัญหาเหล่านี้มาถาม อยากฟ้องก็ให้ฟ้องมา ไม่ใช่อยู่ดีๆ นายกฯ จะไปฟ้องเรื่องนี้ ตรวจสอบเรื่องนั้น มันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ก็ทำหน้าที่กันมาในทุกๆ เรื่อง ผมเองก็กำลังทำหน้าที่อย่างอื่นอยู่ หน้าที่การตรวจสอบการทุจริตไม่ใช่ไม่ทำ เราทำอยู่ แต่ก็มีกลไกเขาต้องทำขึ้นมาตามขั้นตอน จากนั้นผมก็ทำให้ ยุ่งมา 3 วันแล้วไอ้เรื่องนี้”
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนหน้า 13 คน เพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เพราะต้องรอให้จัดทำโครงสร้างการทำงานให้แล้วเสร็จก่อน ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการอนุมัติในหลักการ
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นผู้แทนพิเศษนี้อย่างที่นักวิชาการแนะนำ เพราะการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่ปรึกษาจำนวนมากแล้ว และผู้แทนพิเศษจะลงไปบูรณาการกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และภาคเอกชน เพื่อให้ได้ผลสรุปและเสนอรัฐบาล โดยต้องดูแผนงานโครงการว่าสอดคล้องกับการทำงานหรือไม่ จากนั้นก็กลั่นกรองให้รัฐบาลพิจารณาโดยผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการบูรณาการมาตั้งแต่ส่วนงานระดับล่างจะได้สอดคล้องกับระดับนโยบาย แต่ไม่ใช่เอางบประมาณไปให้ทหารถือไว้ ส่วนสำนักงานนั้นกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งจะต้องดูตามความสะดวกทั้งการเดินทางและอื่นๆ
ส่วนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบจะต้องลงพื้นที่มากน้อยเพียงใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงจะไปเป็นครั้งคราว เพราะหน้าที่เดิมก็มีอยู่ และมีคณะทำงานในพื้นที่ดูแลอยู่แล้ว แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบจะลงพื้นที่บ่อยกว่าตนและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีแนวคิดว่าตั้งรัฐมนตรีช่วยให้กับกระทรวงที่ต้องการอยู่แล้ว เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตั้งได้
“ผมคาดหวังให้สงบเงียบเรียบร้อยเป็นปกติสุข จะคาดหวังอะไรอีก ซึ่งต้องหาวิธีการทำงานและอย่าคาดหวังมาก เพราะหากทำไม่ได้ก็จะหาว่าล้มเหลวอีก หาว่ารัฐบาลแก้ปัญหาล้มเหลวซ้ำซาก”