xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “ข้อบังคับศาลปราบโกง” ปิดทางส่งทนาย “อุทธรณ์-ฎีกา” จำเลยหนี-ไม่มายื่นเองหมดสิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด “ข้อบังคับศาลปราบโกง” ปิดทางส่งทนายยื่น “อุทธรณ์ - ฎีกา” จำเลยที่ไม่ถูกคุมขังต้องมาแสดงตนด้วยตัวเอง หากมีพฤติการณ์ หรือโอกาสที่อาจหลบหนี ไม่มาหมดสิทธิ์ อ่าน 39 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 หลังมีผลวันนี้

วันนี้ (2 ต.ค.) มีรายงานว่า วานนี้ (1 ต.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ลงนามโดย นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคสอง มาตรา ๗ วรรคสาม มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสอง (๗) และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อบังคับไว้ จำนวน 4 หมวด 39 ข้อ โดยหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และ หมวด 2 ว่าด้วยการพิจารณา พิพากษาคดีและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี

อย่างไรก็ตาม หมวด 3 ว่าด้วยการอุทธรณ์ โดยเฉพาะข้อ 25 ระบุว่า ในการยื่นอุทธรณ์ของจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลหากจําเลยร้องขอขยายระยะเวลาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้ระบุถึงเหตุผลความจําเป็นที่ต้องขอขยายระยะเวลาพร้อมแสดงหลักฐานและที่อยู่ หรือช่องทางที่สามารถติดต่อกับจําเลยได้ การพิจารณาคําร้องให้ศาลคํานึงถึงความหนักเบาของโทษที่จําเลยได้รับ พฤติการณ์ หรือโอกาสที่จําเลยอาจหลบหนี รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีของจําเลยประกอบกันในการแสดงตนของจําเลย ให้เจ้าพนักงานศาลดําเนินการ

ทั้งนี้ ข้อ 26 ระบุว่า ในการยื่นอุทธรณ์ หากจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังไม่มาแสดงตน หรือเมื่อครบกําหนดขอขยายระยะเวลาแสดงตนแล้ว จําเลยไม่มาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้เจ้าพนักงานศาลทํารายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นส่งฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวพร้อมสํานวน รวมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป

นอกจากนี้ ในหมวด 4 ว่าด้วยการยื่นฎีกา ข้อ 27 ระบุว่า ในการยื่นคําร้องขออนุญาตฎีกาของจําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล โดยให้นําหมวด 3 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ส่วนข้อ 37 ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคําร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ 30 หรือปัญหาตามคําร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งยกคําร้องและไม่รับฎีกาโดยแสดงเหตุผลโดยย่อ แล้วส่งสํานวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

อ่านฉบับเต็ม 39 ข้อ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/087/1.PDF


กำลังโหลดความคิดเห็น