สำนักงานผู้ตรวจฯ ออกประกาศ “พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์” ผู้ตรวจฯอาวุโสสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานคนใหม่ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 11 แทนที่ “ศรีราชา วงศารยางค์กูร” ที่อายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
วันนี้ (29 ก.ย.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน สํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอประกาศให้ทราบว่า ด้วยประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๙ พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดินที่อาวุโสสูงสุด จึงปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๑๑
จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
รักษเกชา แฉ่ฉาย
เลขาธิการสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำหรับ พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามคำแนะนำของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2557 ซึ่ง พล.อ.วิทวัส ได้กำหนดเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 เข้าดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินแทน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 59 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2559 เรื่องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557
โดยระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ และจะได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 จึงยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ดังนั้น สมควรให้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อให้การปฏิรูปองค์กรศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 จนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ จะมีผลใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามตําแหน่งนั้น ต่อไปแม้จะครบวาระการดํารงตําแหน่งแล้ว จนกว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลใหม่ ขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งดังกล่าว พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจาก ถึงคราวออกตามวาระ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ประกอบด้วยผู้ดํารงตําแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ คสช. มีคําสั่ง ที่ 40/2559 ให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้กระบวนการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนี้ ที่จะมาแทน นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ครบวาระเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมานั้น ต้องยุติลงทันที
ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. ข้อ 4 ได้ระบุไว้ด้วยว่า ในกรณีซึ่งบุคคล พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวครบวาระแล้วแต่กรณี ประกอบด้วย ตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่นั้น ตีความได้ว่า นายศรีราชา จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป จนกว่าจะมีเหตุอื่นนอกจากครบวาระที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งได้ ซึ่งหากย้อนไปดูใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พุทธศักราช 2552 มาตรา 9 วงเล็บสอง ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพ้นตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งในวันที่ 19 กันยายน นี้ นายศรีราชา จะอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ จึงทำให้ นายศรีราชา ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินในวันดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเพียง 2 คน คือ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และ นายบูรณ์ ฐาปนดุล