ป้อมพระสุเมรุ
ทำเอาอุณหภูมิท้องถิ่นเกือบระอุ หลังการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น จำนวน 4 หัวข้อ
ประกอบด้วย 1.โครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล
3.การปฏิรูปการบริหารเมืองพัทยา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองพัทยาและท้องถิ่นโดยรอบ
และ4. การปฏิรูปการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เมืองที่มีลักษณะพิเศษ
ไฮไลต์สำคัญของวันดังกล่าว อยู่ตอนที่ วัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น ชำแหละให้เห็นถึงปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่เบี้ยน้อยหอยน้อย การจัดเก็บภาษีท้องถิ่นที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การใช้ทรัพยากรที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
เลยตีปี๊บดังๆ เลยว่า จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปให้เป็นระบบเดียวกัน โดยการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดเล็ก แล้วยกฐานะให้เป็นระบบ “เทศบาล”
ขณะที่มวลสมาชิก สปท. เฮโลกันสนับสนุน โหวตให้รายงานฉบับนี้ถึง 163 เสียง โดยไม่มีใครแตกแถว ทำเอาเรื่องกระฉ่อนออกนอกสภาเขาดิน ตีความกันแซ่ดในโลกโซเชียลมีเดียว่า “สปท.” จะยุบ “อบต.” แล้วจ้า บรรดานักการเมืองท้องถิ่นเต้นการผาง ระดมคนเตรียมจะเดินทางเข้ากรุงกันเพียบ
ขณะที่ฝ่ายค้านกับฝ่ายสนับสนุน ซัดกันเอาล่อเอาเถิด ถึงผลดี - ผลเสีย ฝ่ายเชียร์บอกดี เพราะอบต.เป็นพวกโบราณ ผลาญเงินแต่ละปีไม่รู้เท่าไหร่ ด้านฝ่ายไม่เห็นด้วย จัดหนักว่า เป็นการทำลายระบบการกระจายอำนาจ เรื่องทำท่าจะบานปลายเข้าไปใหญ่
ใหญไม่ใหญ่คิดดูเอาละกัน ร้อนถึง กระทรวงมหาดไทย ต้องมีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเสนอในการปฏิรูปอบต.ว่า เป็นเพียงผลการประชุมแสดงความเห็นของสมาชิกสปท. เท่านั้น ไม่ใช่การประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในการพิจารณาร่างกฎหมาย
ระแวงจะฉุดไม่กันอยู่ “วัลลภ” ประธานกมธ.ด้านท้องถิ่น ต้องมาอธิบายตอกย้ำว่า ว่าไม่ใช่การยุบ “อบต.”
“ไม่มีการยุบ อบต. แต่ยกฐานะ อบต.ให้เป็นเทศบาล ตามร่างประมวลใหม่ เทศบาลตำบลมีภารกิจในการดูแลประชาชนพื้นฐาน 23 กิจกรรม เพิ่มจากเดิมมีเพียง 6 กิจกรรม ดังนั้น จะได้รับการให้บริการที่มีมาตรฐานดีขึ้น และท้ายสุดประชาชนได้ประโยชน์ และการควบรวม จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ อบต. 80 % มีรายได้ต่ำกว่า 20 ล้าน บางแห่งไม่มีงบพัฒนา จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพในการบริหารงานดีขึ้น”
เรียกว่า ต้องออกมาเบรกกันแทบไม่ทัน แถมยังชโลมโน้มน้าวให้เห็นอีกว่า การควบรวมและยกฐานะให้เป็น “เทศบาล” นั้นมีข้อดีปานใด
เรื่องของเรื่อง เพราะขืนปล่อยเรื่องนี้ให้เข้าใจผิดไปต่างๆ นานา ในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศเริ่มจะดี คะแนนความนิยมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังกระฉูด ทอปบูตกำลังดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หลังอิ่มเอมกับผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขืนปล่อยให้มีม็อบท้องถิ่นออกมา บอกเลย บรรลัย!
เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เรื่องการแตะต้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็น “ยุบ” เป็นเหมือนสายล่อฟ้า ที่กวักมือเรียกให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น พนักงาน ลูกจ้าง พร้อมใจกันเก็บกระเป๋าเข้าเมืองหลวงกันเป็นหลายๆ ชีวิต
บอกเลย แต่ละครั้งที่เข้ามานึกว่าม็อบการเมือง เพราะเพียบไปหมด!
เห็นได้จากเมื่อครั้งที่ครั้งหนึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยมีการเสนอให้ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือมีข่าวว่า คสช.หารือกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ สารพัดสมาคมพร้อมใจกันแห่เข้ากรุงมายื่นหนังสือค้านเพียบ จนรัฐต้องรีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมว่า ไม่มีการยุบ
แม้แต่มาถึงยุค สปท. จุฬา มีบุญรอด นายกสมาคมสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ก็เคยเข้ายื่นหนังสือถึง “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ยื่นคำขาดว่า จะไม่ต้องไม่มีการยุบรวมและควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนปัญหาเรื่องรายได้น้อย ควรมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการ รวมถึงควรเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นได้มีการจัดเก็บภาษีในทุกด้าน แล้วจัดสรรให้รัฐบาลกลาง
คือ ยอมให้ปรับปรุงได้ แต่ไม่ใช่ยุบ!
ซึ่งเอาจริงๆ แนวคิดเรื่องการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีอยู่ในหัวของฝ่ายอำนาจในปัจจุบันมาตลอด แต่ที่ผ่านมาพอแตะมักจะเกิดเสียงค้านไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งตัวนักการเมืองระดับชาติเอง จนต้องยุบโปรเจกต์ไปทุกรอบ
กระทั่งที่สุดต้องมาใช้วิธี “ควบรวม” และยกฐานะเป็น “เทศบาล” เหมือนครั้งนี้ ซึ่งจะว่าไป หากมองลึกไปดีๆ การควบรวมเที่ยวนี้ไม่ได้ต่างอะไรจากการยุบกลายๆ เลย แต่เป็นการค่อยๆ ทำอย่างชาญฉลาดของ “ทอปบูต” กล่าวคือ เริ่มค่อยๆ สลายหน่วยเล็กๆ ก่อนทีละนิด โดยเริ่มจาก “อบต.”
การควบรวมคือ การทำให้ อบต.ค่อยๆ หายไปทีละแห่ง จนในที่สุดหมดเกลี้ยง แม้จะชี้แจงว่า อยู่ในรูปเทศบาลก็ตาม แต่วันหนึ่งที่สุดแล้วในประเทศจะเหลือเพียงชื่อเทศบาลเท่านั้น
ต่อจากนั้นจะขยับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยทำแบบแยบยลและแนบเนียน ไม่ใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าเหมือนแต่ก่อน แต่จะค่อยๆ ควบกันไปตามโมเดล “จัดจารีตทั้งแผ่นดิน” ใหม่ ตามโปรเจกต์ปฏิรูปท้องถิ่น
อย่างไรท็อปบูตก็ต้องทำ เพราะในทางกลับกันยังได้เป็นการสลายฐานเสียงพรรคการเมือง ซึ่ง อบต.ถือเป็นองคาพยพที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด นายกอบต.มีผลต่อการชักจูงหรือตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่ ดังจะเห็นว่า ผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ต่างเป็นขุมข่ายของนักการเมืองระดับชาติทั้งสิ้น
ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ เวลาใครมีไอเดียจะยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติดาหน้าออกมาปกป้องกันถี่ยิบ เพราะนั่นคือ ฐานที่มั่นสำคัญของตัวเอง และบางครั้งบางครายังเป็น “หม้อข้าว” ตัวเอง
อย่าลืมว่า เวลาโครงการต่างๆ ลงไปในพื้นที่ มักจะเกิดเรื่องอื้อฉาวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการล็อกสเปก การฮั้วประมูล การหักหัวคิว บางครั้งถูกจับได้ไล่ทันก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นนักการเมืองระดับชาติทั้งนั้นที่เอี่ยวทั้งสิ้น
การสังคายนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นงานหลักที่ “ทอปบูต” เอาแน่ แต่ปรับวิธีแบบแยบคาย!