ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เผยคนใช้ทางด่วนใหม่ “ศรีรัช-วงแหวนฯ” ต่ำกว่าเป้า หลังเปิดให้บริการได้ 2 อาทิตย์ อ้างประชาชนไม่ค่อยรู้ หารือ BEM กระตุ้นยอดให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมเร่งชง ครม.ดัน ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก คาดเซ็นสัญญา เม.ย.-พ.ค. 60 รับใช้ตอม่อเกษตรนวมินทร์เชื่อมมอเตอร์เวย์ยังติดปมสร้างรถไฟฟ้า
วันนี้ (9 ก.ย.) นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงยอดผู้ใช้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หลังการเปิดใช้อย่างเป็นทางการมา 2 สัปดาห์ ว่ามีผู้ใช้เฉลี่ย 35,000-37,000 คันต่อวัน จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะมีผู้ใช้งานวันละ 80,000 คันต่อวัน แต่ขณะนี้ยังถือว่าห่างไกลเป้าหมาย สาเหตุที่มีผู้ใช้บริการทางด่วนพิเศษศรีรัชน้อยน่าจะมาจากการที่ประชาชนยังรับทราบข้อมูลไม่ทั่วถึง คล้ายกับทางพิเศษฉลองรัช รามอินทรา-อาจณรงค์ ที่เปิดใช้ในช่วงเริ่มต้นเมื่อปี 2539 มีผู้มาใช้บริการเพียง 35,000 คันต่อวัน จากเป้าหมาย 100,000 คันต่อวัน ต่ำสุดที่มีคนมาใช้บริการคือ 18,000 คันต่อวัน แต่ปัจจุบันพบว่ามียอดผู้ใช้งานกว่า 200,000 คันต่อวัน หลังจากนี้คงจะต้องไปหารือกับบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (บีอีเอ็ม) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานเพื่อหามาตรการกระตุ้นให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น
นายณรงค์กล่าวว่า ขณะที่จุดเชื่อมต่อที่อาจเป็นผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่บริเวณทางด่วน ยืนยันว่ายังไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะที่ถนนกำแพงเพชร เพราะมีปริมาณรถที่ใช้บริการเพียงวันละ 10,000 คัน และในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้รอใช้บริการเพียง 1,000 คัน ซึ่งอยู่ในความสามารถที่ตำรวจสามารถบริหารจัดการได้
ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สำหรับโครงการที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจะดำเนินการ คือ โครงการทางด่วนเส้นพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก รวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะสามารถเข้าหาผู้รับเหมาเเละลงนามในสัญญาได้ในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า โครงการนี้จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับผู้ใช้งานจากสะพานพระราม 9 ที่อาจจะต้องเร่งซ่อมแซมเพราะมีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปีเเล้ว หากปรับปรุงสะพานพระรามเก้าก็ทำให้เกิดผลกระทบทางจราจร จำเป็นต้องมีสะพานสำรองเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน
นายณรงค์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 จากถนนงามวงศ์วานไปเชื่อมกับถนนมอเตอร์เวย์-วงแหวนกาญจนาภิเษกตะวันออก และมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยระยะแรกจะเดินหน้าก่อสร้างช่วง N2 ที่บริเวณถนนลาดปลาเค้า ถึงจุดเชื่อมต่อวงแหวนกาญจนาภิเษกตะวันออก รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางด่วนยกระดับไปตามแนวถนนนวมินทร์ โดยใช้โครงสร้างฐานรากตอม่อเดิมที่ กทพ.ก่อสร้างไว้ และถูกปล่อยร้างมานานถึง 22 ปี แต่การออกแบบการก่อสร้างยังติดขัดปัญหากับสำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ที่มีแนวคิดสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เส้นทางแคราย-บึงกุ่มในอนาคต ขณะที่เส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างทางด่วนศรีรัช วงแหวนรอบนอกกับแจ้งวัฒนะด้านทิศเหนือ กทพ.ได้หารือกับ BEM เพื่อจะร่วมมือในการก่อสร้าง แต่ยังติดขัดปัญหากับ สนข.ที่ขอให้พิจารณาในการเชื่อมต่อกับเส้นทางด่วนดอนเมือง-โทลล์เวย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เร่งกำชับให้หารือให้จบได้โดยเร็ว