สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หลักการสำคัญคือเพิ่มอำนาจคณะกรรมการ กยศ.เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลผู้กู้ หวังติดตามการชำระเงินคืน ด้านสมาชิกห่วงละเมิดนิทธิส่วนบุคคล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ก.ย.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม สนช. ซึ่งที่ประชุมได้ขอเลื่อนวาระร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนำขึ้นมาพิจารณาก่อน
โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าผู้ชี้แจงเสนอหลักการและเหตุผลว่า เป็นการปรับปรุงแก้ไขจากพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ปี 2541 โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและสำนักงานขึ้น พร้อมกับจัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับดูแลให้การชำระเงินคืนกองทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขของคณะกรรมการ โดยให้อธิบดีกรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ประกอบด้วย กรณีขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักเพื่อตอบสนองการผลิตกำลังคน บางสาขาวิชาขาดแคลนกำลังคน หรือกองทุนส่งเสริมเป็นพิเศษ หรือเป็นเด็กเรียนดี เรียนเลิศ ส่วนการประเมินมาตรฐานนั้นให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนเป็นผู้ทำหน้าที่เสนอแนะให้คำปรึกษา โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพการคืนเงินแก่กองทุนมากยิ่งขึ้น และทำให้เงินงบประมาณหมุนเวียนเพื่อการศึกษาส่งผลถึงกับผู้กู้ยืมรุ่นหลังได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามชำระเงินกู้ยืมคืนแก่กองทุน โดยยกขึ้นเป็นหมวดเฉพาะคือหมวด 5 มีสาระสำคัญ คือ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมนับแต่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว และเพื่อประโยชน์ในการติดตามชำระเงินคืนของคณะกรรมการให้สามารถขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ พร้อมกับสามารถเปิดเผยข้อมูลการกู้ยืม หรือการชำระเงินของผู้กู้ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลตามที่ร้องขอได้
อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นอภิปรายต่างสนับสนุนการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเคารพข้อมูลสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงมาตรการติดตามชำระเงินคืน ควรแบ่งประเภทมาตรการโดยยึดวัตถุประสงค์ของ กยศ.ที่มุ่งหวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลด้วย อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า การที่ให้คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเปิดเผยข้อมูลของผู้กู้แก่บุคคลอื่นนั้น มองว่าเป็นปัญหายิ่งกว่าระบบพร้อมเพย์ จึงควรมีการจำกัดกรอบการเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ เพื่อรักษาสิทธิความเป็นมนุษย์
พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล สมาชิก สนช.เห็นว่า ควรพิจารณาให้มีความถี่ถ้วนโดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงกรณีผู้กู้ยืมต้องแจ้งนายจ้างรับทราบว่าเป็นผู้กู้ยืม กยศ.หลังจากรับเข้าทำงานแล้ว 1 เดือน เพื่อให้นายจ้างจะรับทราบว่าผู้เข้าทำงานมีหนี้สินอยู่กับภาครัฐ และการมีบทลงโทษนายจ้างที่ไม่ส่งเงินจากการหักเงินเดือนลูกจ้าง ให้นายจ้างรับผิดแทนนั้น มองว่าควรมีการศึกษาข้อดีและข้อเสียถึงการแจ้งต่อนายจ้างก่อนหรือหลัง เพราะหากกำหนดแจ้งนายจ้างทราบภายหลังอาจเกิดการปัดความรับผิดชอบ แต่หากสามารถสามารถแจ้งนายจ้างรับทราบก่อนให้ผู้กู้เข้าทำงานน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับนายจ้างมากกว่า
ด้านนายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.มองว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ผ่านมากลับทำตัวเองเป็นเจ้าหนี้ หรือจ้างบริษัทเอกชนโดยใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อทวงถามหนี้ โดยลืมวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนตัวเห็นว่าอนาคตจะต้องไม่เป็นซ้ำเดิมอีก อีกทั้งเห็นว่าผู้กู้บางรายแม้จะจบการศึกษามาแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่มีงานทำ จะเอาเงินที่ไหนคืน ซึ่งต้องแยกมาตรการในการผ่อนปรนเป็นสองส่วน นอกจากสร้างโอกาสแล้วควรมีการสร้างงานให้ด้วยหรือไม่ ถ้าสร้างโอกาส สร้างงานแล้ว ยังทำไม่ได้ ค่อยมีมาตรการขั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังชี้แจงยืนยันว่า การเข้าถึงข้อมูลผู้กู้นั้นเพื่อประโยชน์ติดตามทวงถามหนี้ในการหักเงินเท่านั้น คงไม่ก้าวล่วงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งจะต้องเป็นเข้าถึงโดยยินยอมของผู้กู้ด้วย หลังจากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยคะแนนเห็นด้วย 141 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 4 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาจำนวน 15 คน