ประกันสังคมฉลองวันแม่ เอาใจคนปวดฟัน เพิ่มวงเงินทำฟันเป็น 900 ต่อปี เริ่ม 12 ส.ค.นี้ คณะกรรมการแพทย์เผยอัตราบริการตามจริง ขูดหินปูนทั้งปากค่าบริการ 400 บาท อุดฟัน 300-550 ถอนฟัน 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท ผ่าฟันคุด 900 บาท นำร่องสถานพยาบาล-คลินิกใน 30 จังหวัด ก่อนขยายครอบคุลมทั่วประเทศ
วันนี้ (11 ส.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน ดังนี้
“อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๕ (๒) และมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๑๔) (ก) ของข้อ ๘ แห่งประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่ เนื่องจากการทํางาน ลงวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
“(๑๔) ทันตกรรม ยกเว้น
(ก) การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ ค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินเก้าร้อยบาทต่อปี ทั้งนี้ ตามอัตราแนบท้ายประกาศฉบับนี้
ในกรณีที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่ทําความตกลงกับสํานักงาน ให้ผู้ประกันตนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะที่นอกเหนือจากอัตราที่กําหนดในวรรคหนึ่ง ให้สถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ตามวรรคสองมีสิทธิขอรับค่าบริการทางการแพทย์ตามอัตราที่กําหนดในวรรคหนึ่ง”
ข้อ ๓ ผู้ใดมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตรา สําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๙ อยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับอยู่เพียงใดให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์นั้นต่อไป จนครบตามอัตราที่กําหนดในประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ชาตรี บานชื่น
ประธานกรรมการการแพทย์”
มีรายงานว่า สำหรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันนสังคม พ.ศ. 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสําหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรอเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทํางาน ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย 1. ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ (เท่าที่จ่ายจริง) 400 บาท 2. อุดฟันด้วยวัสดุ Amalgam 1 ด้าน 300 บาท 2 ด้าน 550 บาท 3. อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน (ฟันหน้า) 350 บาท (ฟันหลัง) 400 บาท 2 ด้าน (ฟันหน้า) 400 บาท (ฟันหลัง) 400 บาท 4. ถอนฟัน (ฟันแท้) 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาทและ 5. ผ่าฟันคุด 900 บาท
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.)ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์เสนอให้เพิ่มวงเงินกรณีค่าทันตกรรมจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาทต่อปี โดยให้เริ่มมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญวันแม่แห่งชาติ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่อยากให้ สปส.เพิ่มวงเงินเป็น 1,200 บาทต่อปี แต่การจะเพิ่มวงเงินต้องคำนึงถึงกรอบค่าใช้จ่ายหรือภาระที่ต้องเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจึงให้เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น บอร์ด สปส.ต้องการให้ผู้ประกันตนทำฟัน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนแล้วไปเบิกคืนภายหลังเหมือนที่ผ่านมา ขณะนี้ สปส.ได้เปิดรับสมัครสถานพยาบาลหรือคลินิกที่จะเข้าร่วมโครงการให้บริการด้านทันตกรรม ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน ซึ่งจะนำร่องสถานพยาบาลและคลินิกใน 30 จังหวัด หลังจากนั้นก็จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด