รองนายกรัฐมนตรี ลงประชามติ บอกขอให้ชินเดี๋ยวต้องโหวตอีกหลายครั้ง ยันจะเอาผลไปเทียบกับอะไรไม่ได้ เผยนายกฯ เรียกถกนอกรอบพรุ่งนี้ รวมผลเสนอที่ประชุมร่วม ครม.- คสช. 9 ส.ค. ระบุ “ประยุทธ์” แจงเองทำไงต่อ ย้ำเลือกตั้งปลายปี 60 ลั่นความชอบธรรมมีตลอดเวลา
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่เขตบางซื่อ กทม. เมื่อเวลา 09.50 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาลงคะแนนออกเสียงประชามติยังหน่วยออกเสียงประชามติ ที่ 51 ซอยประชาชื่น 30 แขวงวงศ์สว่าง
ต่อมา นายวิษณุ กล่าวว่า เรามักจะนึกว่าสิ่งที่คู่กับระบบประชาธิปไตยมีเพียงการเลือกตั้ง ซึ่งการออกเสียงประชามติก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น ในต่างประเทศการจะออกกฎหมายสำคัญบางครั้งก็ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คนไทยไม่ชินกับการลงประชามติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้เป็นการตัดสินแก้ไขปัญหา คนไทยออกเสียงประชามติครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือ การออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และครั้งนี้การถามประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างขึ้นมา
“ขอให้คนไทยชินต่อการลงประชามติ เพราะต่อไปเรายังจะเจออีกหลายครั้ง ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ มีการทำใหม่หรือไม่ได้ทำใหม่ กระบวนการทำประชามติจะเข้าใกล้คนไทยอยู่เรื่อยๆ การลงประชามติไม่เหมือนกับการเลือกตั้งซึ่งสามารถวัดคะแนนนิยมของประชาชนได้ เพราะครั้งนี้ไม่มีการเอาอะไรไปเทียบกับอะไร เช่น จะเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเทียบกับอะไรก็ไม่ได้ และจะกลายเป็นว่าเทียบกับสถานการณ์เดิม และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เรื่องประชามติเดาใจประชาชนได้ยาก แต่การเลือกตั้งจะเดาใจเฉพาะคนในพื้นที่ เราจึงคาดการณ์ผลว่าจะออกมาอย่างไรไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ภายหลังรู้ผลประชามติในวันที่ 8 สิงหาคม นายกฯ เรียกประชุมนอกรอบเพื่อรวบรวมผลประชามติ หรือหารือถึงแนวทางคร่าวๆ เพื่อเตรียมทุกอย่างเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 9 สิงหาคม โดยการประชุมร่วมดังกล่าวจะมีการหารือถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือไม่ผ่าน รัฐบาลจะดำเนินการต่ออย่างไร โดยจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง
“นายกฯ ก็จะถือโอกาสชี้แจงกับประชาชนด้วยตัวเอง ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่าไร โดยนายกฯ ต้องการพูดให้ประชาชนเกิดความสบายใจว่า ถ้าผ่าน หรือไม่ผ่านแล้วต้องทำอย่างไร ซึ่งประชาชน และรัฐบาลจะต้องปรับตัว รวมถึง ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็จะต้องปรับตัวทั้งหมด ถ้าผ่านอย่างน้อยก็ต้องทำกฎหมายลูกออกมาให้ทันตามกำหนดเวลา แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะเตรียมการอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนอาจจะตกใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เรื่องนี้นายกฯ ให้คำมั่นว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2560 อย่างแน่นอน” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนายกฯ จะอธิบายประชาชนได้ลำบากหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีปัญหา รัฐบาลก็จะชี้แจงในส่วนของรัฐบาล ความคิดของคนข้างนอกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมีหลายกระแส และหลายประเภท เราไม่สามารถประเมินผลของการออกเสียงได้ว่าที่ผ่านหรือไม่ผ่านประชาชนมีความต้องการอะไร เพราะบางคนอยากให้ผ่านโดยไม่ต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการให้มีการเลือกตั้ง ขณะที่บางคนไม่อยากให้ผ่านเพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ได้นานขึ้น ส่วนบางคนไม่ต้องการให้ผ่านเพราะไม่ชอบผู้ร่าง และบางคนอาจต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่น
เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านบางฝ่ายมองว่ารัฐบาลจะไม่มีความชอบธรรม นายวิษณุ กล่าวว่า ขอไม่ตอบ แต่ความชอบธรรมมีอยู่ตลอดเวลา