xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯนนทบุรี ชมเรือกำจัดผักตบ ต.ละหาร ประสิทธิภาพสูง เล็งใช้เป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารระดับสูงนนทบุรี ลงพื้นที่ตำบลละหาร ดูเรือต้นแบบกำจัดผักตบชวา รองผู้ว่าฯ ชมเปาะ มีประสิทธิภาพสูง ระบุ ถือเป็นความสำเร็จของท้องถิ่นที่ร่วมกันคิด นำงบที่รัฐบาลสนับสนุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กำนันเผย ดัดแปลงจากกลไกของรถเกี่ยวข้าว ใช้เวลาสร้าง 2 เดือน คาด 2 สัปดาห์กำจัดผักตบชวาคลองใน ต.ละหาร ได้หมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันนี้ (4 ก.ค.) นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายผล ดำธรรม ปลัดจังหวัดนนทบุรี นายสำราญ นันทนีย์ นายอำเภอบางบัวทอง นายพีระพงศ์ ลิมปนาธร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ กรมชลประทาน และ นายสมศักดิ์ อยู่เจริญ นายก อบต.ละหาร ร่วมกันชมเรือต้นแบบกำจัดผักตบชวา และวัชพืช คลองลำรี ต.ละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่ง นายมีศักดิ์ บุญมาหา กำนันตำบลละหาร และผู้ใหญ่บ้าน ต.ละหาร ร่วมกันพิจารณาสร้างขึ้นจากเงินงบประมาณ โครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณครั้งนี้ในวงเงินเพียง 1,757,000 บาท

นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวหลังการชมการสาธิตกำจัดผักตบชวา ว่า จากการชมการสาธิตเรือต้นแบบดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มีประสิทธิภาพดี ด้วยกลไกสายพานลำเลียงและระบบไฮโดรลิก ทำให้สามารถจัดเก็บวัชพืชได้ในปริมาณมากครั้งละ 5 ตัน

“ผมถือว่าเป็นความสำเร็จของท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และนำงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด”

สำหรับการขยายผลในระยะต่อไป จะนำต้นแบบนี้ไปหารือกับผู้บริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีปัญหาผักตบชวา ซึ่งอาจพิจารณาจัดงบประมาณที่เหลือมาดำเนินการในลักษณะนี้ เพราะหากมีการจัดเก็บวัชพืชทางน้ำเป็นระยะ ๆ และเป็นระบบ ก็จะลดน้อยและหมดไปได้ในที่สุด

“ที่ตำบลละหารใช้งบตำบลละ 5 ล้านบาท มาจัดสร้างเรือเก็บผักตบชวา สะท้อนความร่วมมือที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับท้องถิ่นได้คิดโครงการให้สอดรับกับกับปัญหา และความต้องการของคนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาวัชพืชในลำคลอง ซึ่งการทดลองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลดี และประหยัดงบประมาณจ้างเหมาขุดลอกคูคลองกำจัดผักตบชวาได้มาก”

ขณะที่ นายมีศักดิ์ บุญมาหา กำนันตำบลละหาร กล่าวว่า เรือกำจัดผักตบชวาต้นแบบลำนี้ คิดค้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และดัดแปลงจากกลไกของรถเกี่ยวข้าว ด้วยการระดมความคิดจากคนในท้องที่ ก่อนใช้เวลาสร้าง 2 เดือน ตัวเรือมีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร จัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชได้ครั้งละ 5 ตัน ทั้งนี้ ในตำบลละหาร มีคูคลองหลายสาย ความยาวรวมกันกว่า 25 กิโลเมตร หากจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ กำจัดผักตบชวาให้หมดไป



กำลังโหลดความคิดเห็น