รองนายกรัฐมนตรี รับพวกไปลงประชามติอาจมีคนไม่อ่านร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ ใช้ตรรกะชอบไม่ชอบ คสช.โหวต ชี้หาคำตอบทั้งหมดจาก รธน.ไม่ได้ แต่เปลี่ยนแปลงได้จากการตีความ ระบุเหมือนเลือกนางงาม ตอนแรกก็ติติงแต่พอสวมมงกุฎแล้วอาจคิดอีกอย่าง ยันไม่ได้บอกให้รับไปก่อน แนะเอาคำนายกฯ ปะติดปะต่อจะรู้ทางออกหากไม่ผ่าน แต่อาจยุ่งยากกว่าผ่าน ย้ำทุกอย่างเดินตามโรดแมป
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีภายหลังทราบผลประชามติจะมีการประเมินหรือไม่ มาจากสาเหตุใดว่า ผู้ที่จะไปลงประชามติมีทั้งคนไม่อ่านร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่ หรือพวกที่อ่านบ้างแต่ไม่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมด และพวกที่อ่านแต่เข้าใจเนื้อหาผิด ส่วนเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ด้วย มีบางคนไปลงประชามติด้วยตรรกะชอบหรือไม่ชอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือการจะอยู่หรือไม่อยู่ของรัฐบาล ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ส่วนที่บางฝ่ายมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. และไม่ตอบโจทย์ของประเทศนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เราจะหาคำตอบทั้งหมดจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะปัญหาบางอย่างคนร่างไม่สามารถคาดเดาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมดได้ แต่รัฐธรรมนูญถือว่ามีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการตีความ ปัญหาหลายอย่างต้องให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปแล้วให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตีความให้ตรงกับสถานการณ์และเรื่องเหล่านั้น อย่าเอาโจทย์ทุกอย่างมาหาคำตอบในวันนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีฉบับไหนที่คนพอใจหรือไม่พอใจทั้งหมด
“อย่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือ 50 ที่ทุกคนถามถึงตอนออกมาใหม่ๆ ก็มีคนต่อต้านทั้งคู่ อยากให้นึกถึงอารมณ์ของคนในวันนั้นที่ต่างจากวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้เหมือนสินค้าที่เอามาให้คนดูข้อดีข้อเสียได้ เช่นเดียวกับการเลือกนางงาม ตอนแรกก็มีการติติง แต่พอสวมมงกุฎแล้วอยู่ไปเราอาจจะคิดอีกอย่างก็ได้ แต่ไม่ได้บอกให้รับไปก่อนแล้วจะชิน เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพเท่านั้น” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใกล้ถึงวันทำประชามติแล้ว มีทางออกกรณีประชามติผ่านหรือไม่ผ่านแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถึงอย่างไรเมื่อผลประชามติออกมาต้องมีคนออกมาชี้แจง ที่จริงพอจะมี นายกฯ พูดไว้บ้างแล้ว หากนำมาปะติดปะต่อจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ตนไม่ทราบทั้งหมด เพราะรัฐบาลและ คสช.ต้องเตรียมการ ถ้าผ่านหรือไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อ กรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านพร้อมคำถามพ่วงก็ต้องปรับเนื้อหาบางส่วน แต่ถ้าไม่ผ่านอาจจะยุ่งยากมากกว่าผ่าน เพราะต้องทำหลายอย่าง ทั้งนิตินัยและพฤตินัย เริ่มต้นต้องคิดถึงการร่างใหม่ว่าจะทำอย่างไร คำตอบมีอยู่แล้ว ต้องเขียนใหม่และเขียนให้เร็ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแม็ป ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องไปเจอที่ปลายทางโรดแม็ปเดียวกัน
นายวิษณุกล่าวว่า และการใช้คนเพียงไม่กี่คน เป็นข้อหนึ่งที่ทำให้การร่างเร็วขึ้น แต่ยังมีอีกหลายเหตุผลประกอบกัน เช่น การไม่เริ่มจากศูนย์ เรามีแบบอย่างจากฉบับต่างอยู่เยอะ รายละเอียดทั้งหมดคงต้องให้หัวหน้า คสช.พูดเอง และได้ยินว่าวันที่ 8 ส.ค.นี้ จะมีการเรียกหารือตนกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายให้คิดหาทางออกใดเป็นพิเศษ และการจะบอกว่า จะทำอย่างไรต่อนั้น ต้องเริ่มที่ประชุมร่วม เพราะการจะทำอะไรต้องมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เพราะบางอย่างต้องช่วยกันระดมความคิด
นอกจากนี้ นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 5 ส.ค.ว่า นายกฯ ได้มอบหมายให้นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เป็นผู้ไปตอบกระทู้ต่อ สนช.แทน อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการเรียกค่าเสียหายต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังไม่เสร็จ ยังอยู่ในชั้นของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดฝ่ายปฏิบัติไม่ถูกดำเนินการอะไร แต่มาดำเนินการกับฝ่ายนโยบายนั้น ข้อเท็จจริงแล้วมีการสอบกันอยู่ในระดับหนึ่ง เขากำลังไล่สอบกันอยู่