กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อง กสม. ช่วย หลังถูกบริษัทปฏิเสธให้ทำงานต่อ เชื่อ อาจถูกมองเกี่ยวกับความมั่นคง “อังคณา” ลงรับเรื่องตรวจสอบ ระบุ หากถูกเลิกจ้างจากการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ ศาสนา ถือว่าขัด รธน. และอนุสัญญาระหว่างประเทศ
กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 11 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีถูกบริษัทแห่งหนึ่งปฏิเสธรับเข้าทำงาน ซึ่งตัวแทนกลุ่มมุสลิม กล่าวว่า พวกตนถูกบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าไปรับงานให้บริการรถผู้ป่วยวีลแชร์ให้กับบริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค. พวกตนได้เซ็นสัญญาจะทำงานกับบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี แต่พอถึงกลางเดือน มิ.ย. ทางบริษัทโทรศัพท์ติดต่อให้เข้าไปรับอุปกรณ์เพื่อเตรียมทำงาน แต่เมื่อไปถึงกลับมีการแจ้งว่า บริษัทไม่รับพวกตนเข้าทำงาน เมื่อสอบถามเหตุผลก็บอกว่า คุณสมบัติไม่ผ่าน บริษัทสายการบินไม่ให้การรับรองรายชื่อพวกตนที่บริษัทได้ส่งไปว่าจะเข้าไปทำงานให้
“ทั้งนี้ บริษัทมีพนักงานที่เป็นคนมุสลิมอยู่ราว 20 กว่าคน หลังเซ็นสัญญาแล้ว มีการเรียกคนมุสลิมที่ไม่ได้เป็นคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปคุย และรับเข้าทำงานทั้งหมด ส่วนพวกตนบริษัทแจ้งว่าไม่สามารถรับทำงานได้ พอถามเหตุผลก็โยนกันไปมา ผู้บริหารบริษัทก็อ้างแต่ว่าบริษัทสายการบินไม่ส่งชื่อมา ทั้งที่ก่อนหน้าที่พวกตนจะเซ็นสัญญากับบริษัทนี้ เคยทำงานกับอีกบริษัทหนึ่งที่เพิ่งจะหมดสัญญากับบริษัทสายการบินดังกล่าว ซึ่งก็มีการส่งประวัติพวกตนไปตรวจสอบกับกรมตำรวจ ก็ไม่พบว่ามีคดี รวมทั้งขณะทำงานก็ไม่เคยที่จะถูกบริษัทสายการบินแจ้งมาว่า พวกตนมีพฤติกรรมไม่ดี บริการไม่เหมาะสม ทำให้พวกตนไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่ถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน และคิดว่าหรืออาจเป็นเพราะบริษัทเห็นว่าเป็นบุคคลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจจะกระทบต่อความมั่นคง จึงอยากให้ กสม. เข้ามาช่วยเหลือ”
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมุสลิมทั้ง 11 คน ได้ยื่นเรื่องกล่าวต่อศาลแรงงานแล้ว โดยศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย.
ด้าน นางอังคณา กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าหากการเลิกจ้างเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ หรือ ศาสนาจริง ก็ถือเป็นความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และต้องขอเชิญทางกลุ่มมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และแจ้งความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากการไม่รับเข้าทำงานเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง จะต้องมีเอกสารหรือข้อมูลที่ชัดเจน ว่า ทั้ง 11 คนนี้ เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความรุนแรงหรืออะไรที่มีผลกระทบต้อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ต้องทำการตรวจสอบอย่างรอบด้าน โดยการรับฟังจากทางบริษัทด้วย