เมืองไทย 360 องศา
“ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าขั้นตอนในการร่างใหม่ว่าต้องเป็นอย่างไร ใช้เวลากี่วันในการร่างใหม่ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจริงก็ยังเป็นไปตามโรดแมป ส่วนการร่างใหม่จะเสร็จเร็วหรือช้าอยู่ที่ว่าใช้กี่คนในการร่าง ถ้าร่างไม่กี่คนก็เสร็จเร็ว ถ้าหลายคนก็ร่างช้าเพราะมากคนก็มากความ แต่ถ้าไม่กี่คนก็ร่างเร็ว”
“ผมไม่อยากเอาเรื่องของวันเวลามาผูกมัด เดี๋ยวกลายเป็นเอาคำพูดไปเล่นกันว่ายึดโรดแมป วันเดือนปี ไม่สามารถพูดชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ทั้งนี้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดหลังจากรู้คะแนนประชามติ”
“เอาเป็นว่าถ้าไม่ผ่านก็ร่างใหม่ ส่วนการร่างใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไร จะเอาฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับหรือไม่-ไม่ทราบ ไม่รู้จริงๆ ถ้าตอบไปเดี๋ยวคนก็บอกว่ารู้ได้อย่างไร เกิดตอบไปเป็น X อาจมีคนพร้อมใจให้ผลออกมาเป็น Y วันนี้มีหลายอย่างในประเทศไทยที่ตั้งใจให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่คนพูดกันมาก ก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความเสียดาย ทั้งๆ ที่อันเดิมก็ดีแล้ว” ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะใช้ไปถึงเมื่อไร รองนายกฯ กล่าวว่า ใช้ไปถึงปี 2560
คำพูดดังกล่าวของวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กุนซือฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกี่ยวกับผลของการลงประชามติ ทำให้ทราบท่าทีที่กระชับมากขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยที่เห็นก็คือหากไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมก็จะร่างใหม่ และยังหยอดท้ายให้เห็นภาพอีกว่าสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจลากยาวหรือเร็วก็ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการว่าจะใช้แบบไหนอาจใช้คนร่างมากแบบนี้ก็จะนานหน่อย แต่ถ้าใช้คนร่างไม่กี่คนแต่เฉพาะหน้าก็คือหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ก่อนเพื่อให้ใช้ได้ต่อเนื่อง เพราะใช้ได้ถึงแค่ปี 2560 เท่านั้น
สาระสำคัญจากคำพูดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คนนี้ น่าจะต้องการสื่อไปถึงบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างๆให้เห็นว่าหากต้องการเลือกตั้งในปี 2560 ก็ต้องหยุดป่วนและหยุดขัดขวางร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เช่นนั้นก็อาจลากยาวเกินปี 2560 และที่สำคัญเมื่อร่างใหม่ก็ยังเสี่ยงว่าจะออกมาแบบไหนจะ “เข้ม” กว่าเดิมก็ได้ เพราะมีแนวโน้มชัดเจนว่าคราวนี้จะไม่มีการลงประชามติกันอีกแล้วประกาศใช้เลย ซึ่งก็เป็นไปได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ เคยแย้มให้ฟังกันไปบ้างแล้ว
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็เคยแย้มแบบทีเล่นที่จริงมาแล้วเหมือนกันว่า “ถ้าไม่ผ่านก็จะร่างเอง” แม้ว่าจะมีบอกทีหลังว่าพูดเล่นก็ตาม แต่ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ ในความหมายของคำว่าร่างเองก็น่าจะมาแบบตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นมาซึ่งประธานการควบคุมอาจจะเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ คนเดิม แล้วนำเอาจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ปี 50 และร่างฉบับใหม่มายำรวมแล้วอาจผนวกกับความเห็นของ คสช.เข้าไปเพิ่มเติม แบบนี้ที่เรียกว่า “เข้ม” และลากยาว
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจหลังจากได้ยินคำพูดของ วิษณุ เครืองาม พูดออกมาทำให้บรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ออกมากดดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดโรดแมปแบบเดิมคือให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาแบบไหนก็ตามผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องเลือกตั้งตามโรดแมปเดิม
อย่างไรก็ดี นาทีนี้ยังไม่มีใครรับประกันได้แล้วว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านแบบชัวร์ เพราะตามรูปการณ์เริ่มคู่คี่สูสีกันมากขึ้นทุกที ที่สำคัญโอกาสที่จะไม่ผ่านเริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยตามมา นั่นคือ ไม่ผ่านด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ต่อไปอีกสักพักหนึ่ง กับไม่ให้ผ่านเพราะไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของพรรคการเมือง ที่เวลานี้สองพรรคใหญ่คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันแล้ว และเริ่มหันมาฟัด พล.อ.ประยุทธ์ แบบจมเขี้ยวมากขึ้นแล้ว
ดังนั้นหากพิจารณาจากคำพูดดังกล่าวของ วิษณุ เครืองาม มันก็เหมือนกับการเจตนาสื่อให้เห็นว่าหากให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปอยากเลือกตั้งปี 60 ก็ต้องหยุดป่วนหยุดขวาง เพราะหากไม่ผ่านก็ร่างใหม่ ซึ่งอาจลากยาวเกินปี 60 และที่สำคัญ “จะร่างเอง” จะเข้มกว่าเดิมจะเสี่ยงหรือเปล่า!