ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังเชื่อต่างชาติเข้าใจการบริหารของ คสช. ยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ อนุญาตให้เคลื่อนไหวตามกรอบ ไม่ได้ห้าม แต่ถ้าเกินกฎหมายก็ต้องระงับ คาด อาจมีคนให้ข้อมูลบิดเบือน ด้าน สปท.“เสรี” แนะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ไปแจง
วันนี้ (16 ก.ค.) พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็น เรื่องข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการอภิปรายการลงประชามติอย่างเปิดกว้าง ว่า ตนคิดว่า นานาชาติเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. ที่มีความจำเป็นต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้วุ่นวาย พร้อมทั้งเป็นไปตามกรอบโรดแมป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า คสช. ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้ารัฐปฏิบัติตามกรอบกฎหมายภายใต้อำนาจ และหน้าที่ สำหรับกรณีที่มีบทความได้เสนอให้ คสช. เปิดพื้นที่การแสดงออกมากขึ้นนั้น ตนขอชี้แจงตามข้อเท็จจริงว่า กลุ่มผู้เห็นต่างก็มีการเคลื่อนไหว มีการแสดงออกได้อยู่ ซึ่งใคร ๆ ก็เห็น แต่ว่าอะไรที่อยู่ในกรอบกฎหมาย ทาง คสช. ก็อนุญาตให้เคลื่อนไหวได้ ขอย้ำว่า ไม่ได้ห้าม แต่อะไรก็ตามที่กระทำเกินกรอบกฎหมายก็ต้องระงับยับยั้ง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า คสช. ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น อะไรที่ทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย คสช. ไม่เคยปิดกั้นเลย ทั้งกลุ่มผู้เห็นต่าง นักวิชาการ กลุ่มการเมือง นักศึกษา ถ้าเคลื่อนไหวในกรอบกฎหมาย เราก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่เราติดตามเฝ้าดู และประเมินสถานการณ์เท่านั้น แต่ขอย้ำว่าอะไรก็ตามที่ทำแล้วผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
เมื่อถามว่า การที่นานาชาติแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่กดดันรัฐบาล และ คสช. แปลว่าไม่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศ พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า คงแสดงท่าทีความเป็นมิตรประเทศ หรืออาจจะมีคนที่ให้ข้อมูลในทางที่บิดเบือนว่าต้องเป็นเช่นนั้น หรือต้องเป็นเช่นนี้ แต่เราก็ใช้การอธิบาย และทำความเข้าใจ ซึ่งไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก กังวล หรือเป็นที่ลำบากใจ
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกหน้าอธิบายให้เข้าใจว่า เราไม่ได้ปิดกั้นทางความคิด เราเปิดพื้นที่ให้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว เพียงแต่มีมาตรา 61 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ปลุกระดม ไม่ให้เผยแพร่ข้อความเท็จ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญให้การทำประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม เขาก็คงหวังดี แต่อาจจะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องอธิบายชี้แจงให้เขาเข้าใจ เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ น่าจะเชิญทูตทั้งหมดมาทำความเข้าใจ รวมทั้งใช้สื่อของรัฐที่มีอยู่ เร่งทำความเข้าใจ ก็เชื่อว่าจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น