การสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามเพิ่มเติมกับผู้นำชุมชนใน กทม. กรธ. แจงปรับแก้เยอะจากร่างแรก หากผ่านประชามติเห็นผลชัดเจน แย้มถ้าให้ร่างใหม่ไม่รู้เกิดจากประชาชนหรือไม่ ด้านผู้เข้าร่วมงานบ่นอุบ อาหารกลางวันต้มจืดบูด กินไม่ได้ ผู้จัดโร่ขึ้นเวทีขอโทษ บอกทำมาตั้งแต่เช้ารองรับคนเยอะ
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถนนแจ้งวัฒนะ เขตบางเขน ในการสัมมนา “การสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามเพิ่มเติมของ สนช.” โดยมีผู้นำชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วม จำนวน 2,000 คน ช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการแจงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้มีการซักถาม ซึ่งคำถามที่น่าสนใจว่า “ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น”
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตรา ที่เห็นกันร่างแรกในวันที่ 31 ม.ค. หลังรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ก็มีการปรับแก้ 94 มาตรา แยกเป็น แก้ไข 86 มาตรา ยุบรวมกัน 8 มาตรา ซึ่งถือเป็นการปรับแก้ถึง 1 ใน 3 หลังการฟังความเห็นของประชาชน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านในวันที่ 7 ส.ค. เราก็จะเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าบ้านเมืองจะเดินไปทางไหน ภายใน 1 ปี 5 ปี 10 ปีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
“ถ้าไม่ผ่านก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตประเทศจะไปทางไหน แต่ที่แน่ ๆ พวกเรา 21 คนมาทางไหนก็ต้องกลับไปทางนั้น ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับหน้าผมไม่รู้” นายภัทระ กล่าว
ด้าน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวเสริมว่า ถ้าไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องกระบวนการร่างใหม่จนกว่าจะมีร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ได้เขียนเอาไว้
“ตอนนี้ก็ยังมืด ๆ อยู่ ซึ่งบ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป แต่จะเมื่อไหร่นั้นก็ยังไม่ทราบและถ้าผ่านตามหลักการและระยะเวลาก็จะมีการเลือกตั้ง ธ.ค. 2560” นายชาติชาย ระบุ
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ชี้แจงประเด็นคำถามเพิ่มเติม สนช. คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติสมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำข้าวกล่องไปแจกให้ผู้ร่วมสัมมนารับประทาน โดยเป็นข้าวเปล่า แยกกับกับข้าวในกล่องเดียวกัน มีให้เลือกหลายแบบ อาทิ ผัดกะเพราไก่ ผัดปลาดุก และ ต้มจืด ปรากฏว่า มีผู้ร่วมสัมมนาจำนวนมาก ระบุว่า ต้มจืดเสีย ทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ ทำให้ นายภัทระ ขึ้นเวทีสัมมนาช่วงบ่ายกล่าวขอโทษผู้ร่วมสัมมนา เพราะจะแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก ส่วนสาเหตุที่อาหารเสีย เพราะทำตั้งแต่เช้าเพื่อรองรับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มีจำนวนมาก