xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แนะปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.แร่ ชี้กระทบสิทธิฯ มองบริสุทธิ์ใจแสดงความเห็น รธน.ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กสม.แถลงชี้ร่าง พ.ร.บ.แร่ กระทบสิทธิฯ ไม่เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม การใช้ทรัพยากรขึ้นอยู่กับรัฐบาล เอื้อเอกชน เสนอปรับปรุงแก้ไขร่าง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มองแสดงความเห็น รธน.ทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ เจตนาบริสุทธิ์ก็ไม่มีปัญหา

วันนี้ (16 มิ.ย.) นายวัส ติงสมิตร ประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... และการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่า กสม.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ศึกษา สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ พบว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ สาระบทบัญญัติบางมาตรากระทบต่อสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 66 และมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่ยังได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายแร่ และแผ่นแม่บทบริหารจัดการแร่ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ ในการใช้ทรัพยากรเหมืองแร่ยังขาดความชัดเจน โดยขึ้นอยู่กับการอนุญาตของรัฐมนตรี และอธิบดีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดเนื้อหาค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งผิดหลักการ เพราะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจจะส่งผลต่อสิทธิชุมชน และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงอาจจะส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนซึ่งกสม.ตระหนักและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชุมชน จึงมีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติ โดยควรปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อีกทั้งเร่งรัดการตรา พ.ร.บ.การส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ... และกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งกสม. จะส่งข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

นายวัสกล่าวถึงกรณีสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับ หรือไม่รับ ว่าการแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ โดยไม่โจมตี หยาบคาย ก้าวร้าว และปลุกระดม แต่การแสดงความคิดเห็นจะต้องดูด้วย เพราะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติควบคุมอยู่ ขณะนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.ประชามติ วรรคสองขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น หากศาลพิจารณาว่าไม่ขัดก็ไม่มีปัญหา หากพิจารณาแล้วขัดก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน แต่ผู้ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นต้องคำนึงว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติอยู่เช่นกัน ก่อนหน้านี้มีนักกฎหมาย และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ออกมาวิจารณ์ก็สามารถทำได้ ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ก็ไม่มีปัญหา

กำลังโหลดความคิดเห็น