หัวหน้าพรรคคนไทย ชี้ยิ่งใกล้วันประชามติยิ่งเห็นเค้าลางความขัดแย้ง สับ กกต.ขาดความชัดเจน ย้ำ คสช.เลิกโหวต ห่วงเปลืองงบ 3 พันล้านโดยใช่เหตุ แนะถ้าเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดีก็ประกาศใช้เลย แต่ต้องรับผิดชอบด้วย โวยตั้งแต่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยมักสร้างความสับสนตลอด
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ว่า ยิ่งเวลาใกล้การทำประชามติมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นเค้าลางของความขัดแย้งมากขึ้นเท่านั้น ทั้งจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติฯ และจากการกฎระเบียบต่างๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ควบคุมที่ขาดความชัดเจน ทั้งนี้ตนขอย้ำข้อเสนอที่เคยขอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดขั้นตอนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญออกไป เนื่องจากเชื่อว่าจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม ที่ไม่ทันไรก็เป็นไปตามที่ตนคาดการณ์ไว้ ทั้งในแง่การยอมรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยประเด็นของการทำประชามติ ที่ส่อให้เห็นถึงความขัดแย้งที่นับวันจะมีมากและรุนแรงขึ้น อย่างการตั้งศูนย์ปราบโกงของกลุ่ม นปช.ที่ฝ่ายรัฐบาล คสช.ก็ไม่ชอบใจ ที่สำคัญยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณภาครัฐกว่า 3 พันล้านบาทโดยใช่เหตุด้วย
“ย้ำอีกครั้งว่าหาก คสช.เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมาะสมดีแล้วก็ควรประกาศใช้เลย ไม่ต้องทำประชามติให้ยุ่งยาก แต่ คสช.ก็ต้องรับผิดชอบในผลพวงที่จะตามมาด้วย หรือแม้จะมีการทำประชามติ คสช.ก็ต้องรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้ง ไม่สามารถผลักความรับผิดชอบมาให้ประชาชนได้” นายอุเทนระบุ
นายอุเทนกล่าวต่อว่า คสช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องยอมรับความจริงที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองนั้นมีปัญหา ส่งผลให้เกิดการไม่ยอมรับในวงกว้าง การปิดปากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ตัวเองสามารถนำเสนอแต่ด้านที่ดีของร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่ทางออก เพราะอย่างไรเสียหากมีการบังคับใช้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาอยู่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ที่ขัดจากหลักการที่ว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศควรร่างโดยตัวแทนของประชาชน คือ สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะมีการวางกฎเกณฑ์เงื่อนไขจนไม่สามารถแก้ไขได้เลย และถ้ามีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม แต่สุดท้ายกลับไปให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา คำวินิจฉัยต่างๆ ที่ออกมามักสร้างความกังขาสับสน ตลอดจนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยคดีซุกหุ้น จนมาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดก่อน