xs
xsm
sm
md
lg

สปท.ผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่หวั่นดาบสองคม “คำนูณ” ชี้ป้องกันทุจริตฐานราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สปท.ผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขจัดอุปสรรคเปิดกว้างทันสมัยมากขึ้น หลังงานวิจัยทีดีอาร์ไอชี้อุปสรรควัฒนธรรมการปกปิดข้อมูล สมาชิกหวั่นดาบสองคมเปิดช่องล้วงตับ-เล่นงานหน่วยราชการ ด้าน “คำนูณ” หนุนเป็นการปฏิรูปของจริง ป้องกันทุจริตจากฐานราก

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เรื่องการบริหารงานภาครัฐที่เปิดเผยข้อมูล และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... โดยนายอนุสิษฐ คุณากร ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวถึงหลักการเหตุผลว่า เชื่อว่าเป็นความต้องการของคนในสังคมที่อยากให้มีการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ ทำให้การบริหารงานราชการทุกมิติเดินไปได้ มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ แม้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 กำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคก็มีหลายประการ จึงต้องมีการยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าว และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... ขึ้นมาเพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีความหมายกว้างกว่า รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารทุกประเภทรวมถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

น.ส.กวินา กิจกำแหง สปท.ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรค พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 เมื่อบังคับใช้ไปแล้วปรากฏว่าหน่วยงานไม่ปฏิบัติตาม ยังยึดติดกับวัฒนธรรมการปกปิดข้อมูล มีหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติตามเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น โดยพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... มีทั้งสิ้น 10 หมวด ในแง่หลักการต้องการให้เป็นกฎหมายกลางในการเข้าถึงข้อมูล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสู่สาธารณะ เว้นแต่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือที่เป็นความลับทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่สังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนเป็นหน่วยงานระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ โดยมีกรรมการ4คนที่เป็นโดยตำแหน่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน โดยมาจากการคัดเลือก

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ได้กำหนดสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 7 กำหนดหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานรัฐในการทำช่องทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มาตรา 8 กำหนดหน้าที่หน่วยงานของรัฐให้มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะให้ประชาชนรับรู้และแสดงความคิดเห็น เพื่อประกอบการจัดทำและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การพิจารณาร่างกฎหมายและโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบ ในมาตรา 9 ยังกำหนดให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับกิจกรรมการจ่ายเงินงบประมาณหรือได้รับอนุญาต สัญญา สัมปทานหรือสิทธิในการดำเนินการซึ่งอาศัยอำนาจทางกฎหมาย หรืออำนาจของหน่วยงานรัฐหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะ สาธารณสมบัติแผ่นดิน ต้องเปิดเผยข้อมูล มาตรา 10 ให้มีช่องทางเปิดเผยหลากหลาย โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 15 จะต้องพิจารณาตามคำขอ รวมระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน

นายคุรุจิต นาครทรรพ สปท.กล่าวว่า ถือเป็นหลักการที่ดีที่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐ แต่ประเด็นสำคัญตรงความสมดุลระหว่างสิทธิเข้าถึงข้อมูลกับสิทธิส่วนบุคคล จากปัญหาที่นำเสนอ องค์กรส่วนท้องถิ่นยังไม่เปิดเผยข้อมูลจนถูกมองว่าถ่วงเวลานั้น ไม่อยากให้มีการสันนิษฐานไปก่อนว่าหน่วยงานราชการมีความต้องการจะปกปิดหรือทุจริต การออกแบบให้อำนาจมากเกินไป อาจเป็นดาบสองคม อาจบั่นทอนการทำงานราชการที่สุจริต เปิดช่องทางให้มีการล้วงความลับทางราชการ ทรัพย์สินทางปัญญา คู่แข่งทางการค้า ที่ได้รับการคุ้มครอง ในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการและสัมผัสกับเรื่องนี้มา ที่ผ่านมาเคยมีการร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนทั้งที่ยังไม่เป็นที่ยุติ เกรงว่าจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปข่มขวัญ ทำลายขวัญข้าราชการบางคนก็ได้ รวมทั้งการกำหนดโทษทางอาญาหากไม่มีการเปิดข้อมูล ดูจะมากเกินไป ให้มีโทษเพียงทางวินัยน่าจะเหมาะสมกว่า

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปท.อภิปรายสนับสนุนว่า เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่จะให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง เพราะเป็นการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ฐานราก ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ เพราะเมื่อมีการใช้เงินใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินจึงต้องเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ได้ทำการตรวจสอบหรือร้องเรียนได้หากพบความไม่ชอบมาพากล ทำให้หน่วยงานต้องระมัดระวังมากขึ้น กดดันองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. สตง. ว่ากำลังเผชิญกับคู่แข่งที่สำคัญคือประชาชน

“ส่วนที่กังวลว่าเป็นการก้าวก่ายไปถึงภาคเอกชนมากเกินไปหรือไม่นั้น ผมว่าไม่ใช่ เพราะหากทำมาหากินขายก๋วยเตี๋ยวธรรมดาคงไม่เป็นอะไร แต่หากได้รับสัมปทานจากรัฐให้ขายก๋วยเตี๋ยวได้ ก็เป็นเหตุอันควรที่ต้องเปิดเผย เอกชนที่ทำมาหากินโดยสุจริตไม่ต้องกังวล ที่ผ่านมาเราเคยเจอปัญหาทางตัน เมื่อขอสัญญาว่าจ้างการซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี สิ่งนี้เป็นเหมือนเครื่องมือตรวจสอบให้เกิดการถ่วงดุลมากขึ้น ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เกิดการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แบบที่มีคนนิยามประชาธิปไตย 4 วินาที แต่เป็นเผด็จการ 4 ปี ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านก่อนมีรัฐบาลใหม่ เราสามารถตอบคำถามโลกได้ ในห้วงเวลาเปลี่ยนแปลงเราได้สร้างการมีส่วนร่วมไปสู่ทางสาธารณะ จะเป็นคุณค่าทางประชาธิปไตยที่ประชาชนจับต้องได้ กินได้”

จากนั้นได้มีโหวตโดยสมาชิก สปท. เห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังได้มีการกำหนดในหมวด 10 การคุ้มครอง การบังคับทางปกครอง และบทลงโทษ ในมาตรา 48 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 49 ผู้ใดกระทำการขอข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามพระราชบัญญัติ โดยเจตนาไม่สุจริตหรือเพื่อแสวงผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ต้องรับโทษทางปกครองไม่เกินห้าหมื่นบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น