รองปลัดมหาดไทยประชุมเชิงนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์งานกาชาด พร้อมหนุนนโยบายลดละเลิกอบายมุข มุ่งสู่เป้าหมายสร้างความสุขสังคมยั่งยืน ด้านเครือข่ายงดเหล้าเสนอ 5 มาตรการคุมแอลกอฮอล์ในงานกาชาด
วันนี้ (30 พ.ค.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจิรญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือข้อเสนอเชิงนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานกาชาด โดยมีนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุม โดยได้ขอบคุณเครือข่ายองค์กรงดเหล้าที่มีเจตนาดีที่ช่วยกันในการช่วยเหลือสังคม เพื่อให้เกิดการลด ละ เลิกอบายมุข และได้มีส่วนร่วมในการผลักดันในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ รวมทั้งมีการส่งเสริมและรณรงค์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ รวมทั้งระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสุรา การลดอบายมุข และอาชญากรรมต่างๆ อย่างจริงจัง มีการตรวจติดตามในพื้นที่เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
“กระทรวงมหาดไทยตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ตามนโยบายลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้อเสนอดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่บรรลุตามเป้าประสงค์ ควรมีการส่งเสริมให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกันเพื่อให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง”
รองปลัดกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่า การจัดกิจกรรมของจังหวัดหรือส่วนราชการที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ต้องปลอดเหล้าอย่างแน่นอน โดยได้รณรงค์เน้นการจัดกิจกรรมงานที่เผยแพร่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม เช่น งานศิลปะ ประเพณีต่างๆ การละเล่นพื้นบ้าน ตลอดจนมีการตกลงร่วมกันว่ากิจกรรมธุรกิจเสี่ยงโชค หรือการพนันจะไม่เป็นกิจกรรมหลักของงาน นอกจากนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือในการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานกาชาด ดังนี้ 1. ให้มีประกาศหรือคำสั่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดงานกาชาดเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หรือเป็นงานกาชาดปลอดเหล้าอย่างถาวร 2. ให้ประกาศเป็นนโยบายสาธารณะที่มีการใช้กลไกคณะทำงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด 3. ให้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อสาธารณะและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4. ให้งานกาชาดที่จัดขึ้นคำนึงถึงหนทางในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรนักดื่มหน้าใหม่ และร่วมกันยกระดับการทำงานในเชิงรุกเพื่อสร้างความปลอดภัย และควบคุมปัจจัยเสี่ยต่างๆ อันเกิดจากเหล้า บุหรี่ การพนัน และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในงานกาชาด และ 5. ขอให้มีการ Renovate งานกาชาด สร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมแสดงความเป็นเจ้าของบ้าน ทำให้งานกาชาดเป็นงานที่มีคุณค่า