“ประยุทธ์” ควง มท.1-รมว.เกษตรฯ ไปโคราชบ้านเกิด ติดตามแก้ภัยแล้ง พร้อมประชุมหัวหน้าส่วนราชการและกรมชลฯ จี้ มท.-เกษตร-พาณิชย์บูรณาการเร่งรัดพัฒนา เผยอะไรที่รัฐบาลหนุนได้รับไปพิจารณา ยึดความเร่งด่วน ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
วันนี้ (25 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปยังฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง ขึ้นเครื่องบินกองทัพบก เดินทางปฏิบัติไปราชการ จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ จ.นครราสีมา เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 1 ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง ได้เดินทางไปยังจุดจอดสนามกีฬาโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังศูนย์สารสนเทศ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย โดยคณะครูและนักเรียนร่วมร้องเพลง “เธอคือประเทศไทย” ต้อนรับนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแสดงความขอบคุณ พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าขอให้ทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อประเทศของเรา
จากนั้นเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกรมชลประทานตามนโยบายของรัฐบาลจากกรมชลประทาน ณ ห้องประชุม อาคารศูนย์สารสนเทศ สำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย
สรุปผลการดำเนินงานของกรมชลประทานในภาพรวมการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ดังนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ 89,720 ไร่ ตัวเขื่อนมีความจุประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ.2553 และปี พ.ศ.2556 เกิดอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ทำให้มีน้ำส่วนเกินไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นเข้าสู่พื้นที่อำเภอ ปักธงชัย และอำเภอโชคชัยท่วมพื้นที่การเกษตร และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 541 ล้านบาท ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการกับเก็บน้ำ และการระบายน้ำเขื่อนลำพระเพลิง โดยทำการยกระดับสันเขื่อนจากเดิมเพิ่มขึ้นอีก 4 เมตร ทำให้เพิ่มความจุน้ำเป็น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.เพิ่มความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยเพิ่มความความกว้างทำนบดิน จากเดิม 8 เมตร เป็น 12 เมตร พร้อมปรับปรุงฐานรากของตัวเขื่อนให้มีความแข็งแรง 3.ปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งซ้ายเขื่อนลำพระเพลิงระยะทาง 6.5 เมตร เพื่อทำการผันน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงไปยังอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และ 4.ปรับปรุงระบบการผันน้ำโดยขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บน้ำ จากเดิมเป็น 42.2 ล้านลูกบาศก์เมตร
ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีกจำนวน 18,000 ไร่ นอกจากนั้น ยังสามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค และบริโภคของประชาชนในอำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย และอำเภอเมือง
จากนั้น นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวขอรับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง เพื่อใช้เป็นแหล่งกับเก็บน้ำและชะลอน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรมของราษฎร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่เขตอำเภอเทพารักษ์ อำเภอด่านขุนทุด อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ ดังนี้ 1. โครงการยกระดับการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวนงบประมาณ 310,000,000 บาท 2. โครงการสร้างบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลำเชียง เพื่อสร้างอาคารระบาย จำนวน 56 แห่ง งบประมาณ 995,000,000 บาท และโครงการขุดลอกลำเชียงไกรระยะทาง 122 กิโลเมตร งบประมาณ 260,000,000 บาท
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การดำเนินแผนการบริหารจัดการน้ำขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการที่เร่งด่วน เกิดผลกระทบ และให้ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันดับแรก พร้อมกับกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสมโดยให้จำแนกว่าพื้นที่ไหนควรเพาะปลูกพืชชนิดไหน พื้นที่ไหนควรจะแปรรูปให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับแนะนำให้ใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ ทั้งนี้ ให้ดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
สำหรับเรื่องงบประมาณที่ทางกรมชลประทานขอรับการสนับสนุนนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ขอ แต่ต้องการให้ไปปรับแผนการดำเนินงาน เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการที่ให้ผลชัดเจนภายในปี 2560 สามารถตอบสนองความต้องการ แก้ไขปัญหาของประชาชนได้ให้เร่งดำเนินการก่อน และให้ปรับระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นลง พร้อมกับให้คำนึงถึงระบบน้ำเพื่อใช้อุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อรักษาระบบนิเวศ