“วิษณุ” พร้อมตอบคำถามนักการเมืองร่วมฟังร่างรัฐธรรมนูญพรุ่งนี้ เชิญเลขาฯ สศช.แจงด้วย บอก “ประยุทธ์” สั่งจัดเวทีหลังคลายสถานการณ์ หวังทำความเข้าใจในสิ่งที่สงสัย เน้นแปลให้ฟัง ไม่ใช่โต้เถียงกัน จ่อมีเวทีของนักวิชาการด้วย ปัดควบคุมเนื้อหา เชื่อไม่วุ่น ไม่ได้ให้มาเย้ยฟ้าท้าดิน แต่รับถ้าพูดขัด ม. 66 แม้แต่ กรธ.ก็อาจผิดได้ ถ้าไม่สร้างสรรค์ก็เลิก ระบุไม่ทราบ ผบ.ทบ.จะเลิกปรับทัศนคติ
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองมาร่วมฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค.ว่า ในส่วนรัฐบาลที่มอบหมายให้ตนไปร่วมชี้แจงนั้น เพราะเผื่อเกิดมีคำถามตนจะได้ตอบ และหากมีการถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายก็ได้เชิญให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปร่วมเวทีดังกล่าวด้วย โดยคำถามที่คาดว่าจะมีการถามขึ้นคือ การแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอมา หรือจะทำอย่างไรถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ตรงนี้ตนคงต้องตอบ แม้จะตอบไม่ได้แต่ต้องมีคนไปนั่งเพื่อบอกว่าไม่รู้ ซึ่งประเด็นว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 อย่างไรจะยังคงไม่มีคำตอบในวันที่ 19 พ.ค.
รองนายกฯ กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้เป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยเริ่มต้นในประเด็นการลงประชามติที่จะได้ทำความเข้าใจกัน รวมถึงทำความเข้าใจกับนักการเมืองในสิ่งที่เขาสงสัยกันอยู่ ที่ผ่านมามีแต่ฝากถามกันผ่านสื่อ คราวนี้ได้มาพบกันเสียเลย หากเวทีออกมาดูดีจากนี้อาจจะมีการผ่อนคลายอย่างอื่นอีก อย่างกรณีของนักวิชาการอาจจะมีเวทีต่อไป เวทีนี้ไม่ต้องการที่จะโต้เถียงจนมีฝ่ายชนะ แต่ต้องการชี้แจงในสิ่งที่คนยังสงสัย เพราะพรรคการเมืองเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วอาจจะแปลไม่ตรงกับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เวทีนี้กรธ.จึงสามารถแปลให้ฟังได้ เชื่อว่าคงสามารถสร้างความเข้าใจกันได้ในระดับหนึ่ง และอาจจะมีการบันทึกเทปไว้ออกอากาศในจังหวะที่สมควรภายหลัง และยืนยันไม่มีการควบคุมเนื้อหา
“เชื่อว่าจะไม่มีความวุ่นวาย และเวทีนี้ไม่ใช่ให้มาเย้ยฟ้าท้าดิน แต่ให้พูดจากันธรรมดา ต่อไปจะได้คิดขยับไปเวทีอื่น ซึ่งการแสดงออกของนักการเมืองในเวทีนี้คือ การเปิดโอกาสให้สอบถามสิ่งที่สงสัย เพราะเห็นโวยกันว่าพูดนอกรอบแล้วเสี่ยงต่อความผิด เห็นกลัวกัน แต่มาพูดในเวทีก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสี่ยง มันไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรขนาดนั้น ถ้าพูดขัดมาตรา 66 ของกฎหมายประชามติ แม้แต่กรธ.ก็อาจมีความผิดได้ เวทีนี้ไม่ใช่เวทีนิรโทษกรรม” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้หาช่องทางกฎหมายเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์นั้น นายวิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประวิตรยังแค่เปรย ยังไม่ได้ลงรายละเอียด แต่เวทีนี้ถือเป็นการนำร่องอย่างหนึ่ง ถ้าสร้างสรรค์จะได้คิดกันต่อ ถ้าไม่สร้างสรรค์ก็เลิก ส่วนที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะยกเลิกการปรับทัศนคตินั้นตนไม่ทราบ