กสม.เฝ้าเกาะติดประชุมUPR พิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย เผยทำรายงานส่ง UN เน้นปัญหาสิทธิฯ เกี่ยวกับชุมนุมการเมือง การแสดงความเห็นหลังมี คสช. “วัส” รับเหนือคาด ครม.สั่งปิดเหมืองทองพิจิตร ยกเป็นสิ่งดีเรื่องสิทธิความเป็นอยู่และชีวิตมุนษย์
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. นายชาติชาย สุทธิกรม นางประกายรัตน์ ตันธีรวงศ์ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันชมการถ่ายทอดสดการประชุมคณะทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมุนษยชนของประเทศไทย หรือ UPR
โดยนายวัสกล่าวว่า ในส่วนของ กสม.ได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมุนษยชนในประเทศไทยส่งให้สหประชาชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเมื่อเดือน ก.ย. 2558 โดยประเด็นสำคัญที่ กสม.ได้นำเสนอ คือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และปี 2556-2557 ทั้งการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ การแสดงความคิดเห็นและการดำเนินการของรัฐในการควบคุมการชุมนุม ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจาก คสช.เข้าบริหารประเทศ เช่นการเชิญบุคคลไปปรับทัศนคติ มาตรการที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นพลเรือน ปัญหาสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการจับกุม คุมขังบุคคล ความล่าช้าในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง ปัญหาการค้ามนุษย์การปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา ปัญหาสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของคนในชุมชน
โดยหลังการพิจาณาของคณะทำงานสหประชาชาติในวันนี้แล้วก็จะมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย ซึ่ง กสม. ก็จะได้มีการหารือกับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการพิจาณารับข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งก็จะติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยรับไว้ด้วยว่ามีการดำเนินการข้อเสนอแนะอย่างไรหรือไม่
นายวัสยังกล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร โดยอนุญาตให้ประกอบกิจการถึงสิ้นปี 2559 นั้นว่า นับว่าเป็นเรื่องที่เหนือคาด แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ เรื่องดังกล่าว กสม.เคยได้ให้ความเห็นไว้ในเวทีของกรมทรัพยากรธรณี โดยใช้ข้อมูลจากการตรวจสอบของสำนักงาน และจากการเสนอแนะที่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และเชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่ต่อสัมปทานกับบริษัทเอกชน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อเรื่องสิทธิความเป็นอยู่ และชีวิตของมนุษย์เป็นสำคัญ