xs
xsm
sm
md
lg

ยกร่าง “จริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์” ใหม่แทนของเก่าที่ใช้มา 18 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมคณะทำงานทบทวนข้อบังคับจริยธรรม มีมติยกร่างใหม่เพื่อทดแทนข้อบังคับเดิมปี 2541 ที่ใช้มา 18 ปีแล้ว ยึดหลักการกำกับดูแลกันเอง ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรสมาชิก รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 12 พ.ค.นี้

วันนี้ (22 เม.ย.) นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้คณะทำงานทบทวนข้อบังคับจริยธรรมได้ประชุมเพื่อทบทวนและแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 เนื่องจากประกาศใช้มานานและเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง คณะทำงานชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ, นายเสด็จ บุนนาค รองเลขาธิการฯ, นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน, นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, นางสาวบุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ, ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า, นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงส์ จากหนังสือพิมพ์ประชามติ จังหวัดตราด, นายนิรันดร์ เยาวภาว์ จากเครือผู้จัดการ, นายผดุงศักดิ์ ลิ้มเจริญ จากเครือสยามสปอร์ต, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และตน

นายชายกล่าวอีกว่า วันนี้ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีมติยกร่างใหม่เพื่อทดแทนข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 ที่ใช้มากว่า 18 ปีแล้ว โดยยึดหลักการกำกับดูแลกันเอง เพื่อให้สอดคล้องต่อการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรม ที่จะตั้งขึ้นสำหรับดูแลเรื่องการละเมิดจริยธรรมขององค์กรสมาชิก ซึ่งข้อบังคับดังกล่าว แบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1. หมวดทั่วไป ที่กล่าวถึงคำนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. หมวดหลักจริยธรรมทั่วไป โดยแยกเป็นหมวด เรื่องความถูกต้องและข้อเท็จจริง, เรื่องประโยชน์สาธารณะ, ความสมดุลและเป็นธรรม และการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนในหมวดที่ 3 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักกระบวนการทำงาน แยกเป็น การปกปิดและเคารพแหล่งข่าว, สิทธิในการแก้ข่าว, การแยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น, อามิสสินจ้างและประโยชน์ทับซ้อน, การได้มาซึ่งข้อมูลโดยไม่ละเมิด และโฆษณาแฝง

ทั้งนี้ หลังจากยกร่างข้อบังคับฯ ใหม่แล้ว สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรสมาชิก รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน สังคม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 12 พ.ค. 2559 หลังจากนั้นคณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาปรับแก้ ก่อนเสนอที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและประกาศใช้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น