รองนายกรัฐมนตรีเผยที่ประชุม ครม.เห็นชอบงบประชามติ 2,991 ล้าน รับถูกนายกฯ ติงทำไมชงยิบย่อยอีก ก่อนแจงต้องใช้หลังมีคำถามพ่วง คาดเพิ่มไม่กี่บาท พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แล้ว ชี้ประมูลคลื่น 900 ต้อง 27 พ.ค. สตาร์ทราคาเริ่มต้นที่ 75,654 ล้านบาท ระบุไม่ให้ดีแทคได้สิทธิ์ เหตุขอเริ่มต้นราคาที่หมื่นล้าน โอดยังคิดไม่ออก หากไม่มีใครเอาจะทำอย่างไร ลั่นมีแผนหากทรูชนะ
วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอขออนุมัติใช้งบกลางในการดำเนินการลงคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 2,991 ล้านบาท ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สอบถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าอาจจะมีการของบเพิ่มเติมในส่วนอื่นอีก ทำไมไม่เสนอมาในคราวเดียวกัน ซึ่งได้มีการชี้แจงว่าตอนแรกไม่มีเรื่องคำถามพ่วง กกต.จึงได้ไปกำหนดงบแค่ในส่วนของการพิมพ์ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และการรณรงค์ แต่พอมีคำถามพ่วงต้องมีการขออนุมัติงบเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้เตรียมไว้ก่อน ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ตนก็ให้ กกต.เจียดจากงบจำนวน 2991 ล้านบาท มาใช้ดำเนินการในส่วนของคำถามพ่วง หากไม่พอค่อยว่ากันอีกครั้งหนึ่ง เพราะยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด เพราะแค่ลำพังพิมพ์บัตรลงคะแนนเลือกตั้งใช้ไม่มาก เพิ่มมาไม่กี่บาท จากนี้ กกต.จะไปพิจารณาการบริหารจัดสรรงบ และได้ยินข่าวว่า กกต.จัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ส่วนวันลงประชามติไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตามที่ กกต.เสนอ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว
นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ว่า มีการกำหนดให้วันที่ 27 พ.ค. นี้ เปิดประมูลคลื่นความถี่ได้โดยจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งในขั้นตอนปกติจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ที่ใช้เวลานานและบวกกับเวลาเตรียมการของผู้เข้าร่วมประมูล เช่น การให้ธนาคารการันตี การประชุมผู้ถือหุ้น จึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าหากดำเนินการช้าราคาก็จะยิ่งลดลงในหลักพันล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นว่า ต้องกำหนดเป็นวันที่ 27 พ.ค.จะใช้คำว่าภายในวันที่ 27 พ.ค.ไม่ได้ และจะเร็วกว่าหรือช้ากว่านี้ไม่ได้ เพราะการเชิญชวนต้องทำให้คนรู้ทั่วโลกว่ากระบวนการเดินแบบนี้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมดยกเว้นรายที่ผิดสัญญาไปเมื่อครั้งก่อน ซึ่งเราก็รู้ว่าคือ บริษัท แจส โมบาย จำกัด แต่ไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็สามารถเข้าร่วมได้แม้ไม่ได้เชิญชวน เพราะถ้าปิดกั้นอาจจะโดนฟ้อง และถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมากก็จะมีช่วยพยุงราคาให้ขยับขึ้นไปได้ รวมถึงจะต้องประมูลในราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท
รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ อย่าลืมว่าจากการประมูลที่ผ่านมา ผู้ที่ประมูลได้เป็นอันดับที่ 2 คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งตามหลักจะต้องมอบให้กับดีแทค แต่มีการติดต่อไปแล้ว ดีแทคตอบรับพร้อมเงื่อนไขขอให้เริ่มประมูลในราคาที่ 10,000 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ แต่หากจะส่งมอบให้ดีแทคก็จำเป็นต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เช่นกัน ส่วนที่ไม่มอบให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เพราะเป็นการประมูลคนละชุดจึงต้องให้มาประมูลแข่งขันกัน แต่หากเอไอเอสเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวจะต้องจ่ายในราคาที่แจสเคยประมูลไว้ แต่หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลก็ยังคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะทรู
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทรูชนะการประมูลขึ้นมาจะเหมือนการผูกขาดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขออย่าสมมติว่าทรูจะเป็นผู้ชนะการประมูล ไม่เช่นนั้นจะทำอย่างไร จะเขียนห้ามทรูเข้าร่วมประมูลหรือ จะยิ่งไปกันใหญ่กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เมื่อถามย้ำว่า แต่ได้คิดทางออกไว้หรือยังกรณีหากทรูชนะ นายวิษณุกล่าวว่า คิดไว้แล้ว แต่ยังบอกไม่ได้