xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เชื่อ “บรรยง” ใช้บริการ “ปานามา” ตั้งบริษัทที่เมืองนอก จงใจเอาเปรียบด้านภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง โต้ “บรรยง” กรณีมีชื่อใน “ปานามา เปเปอร์ส” ระบุการตั้งบริษัทในต่างประเทศเพื่อจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในไทย เท่ากับจงใจให้เอาเปรียบทางภาษีบริษัทอื่น เพราะได้ 2 ต่อ กำไรบริษัทก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในไทย จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในไทย ผู้ถือหุ้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าไม่โอนเงินกลับมาไทย

วันนี้ (9 เม.ย.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ตอบโต้กรณี นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ ซูเปอร์รัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีที่ นายบรรยง มีชื่อปรากฏในเอกสารลับ “ปานามา เปเปอร์ส” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich” ว่า การที่นายบรรยงอธิบายเกี่ยวกับคนไทยที่จัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินของเขาเป็นกรณีที่เดิมบริษัทหลักทรัพย์ภัทรขายหุ้นไปให้แก่ฝรั่ง ต่อมาฝรั่งอยากจะขายคืนให้คนไทย เขาจึงรวบรวมเพื่อนไปซื้อหุ้นคืนมาจากฝรั่ง แต่แทนที่จะขอโอนเงินจ่ายให้ฝรั่งตรง ๆ พวกเขากลับขอโอนเงินออกไปตั้งบริษัทในศูนย์การเงิน และเมื่อได้หุ้นจากฝรั่ง แทนที่จะส่งหุ้นกลับคืนมาเข้าในไทยตรง ๆ พวกเขากลับโอนหุ้นที่ได้รับจากฝรั่ง ไปเก็บไว้ในบริษัทในศูนย์การเงิน

นายธีระชัย วิจารณ์กรณีดังกล่าว ว่า การที่คนไทยจะจัดตั้งบริษัทอยู่นอกประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะถ้าใช้เพื่อจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในต่างประเทศ เพราะรายได้จากต่างประเทศ ไม่ได้อาศัยการช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยไม่เก็บภาษีรายได้นี้ เว้นแต่ถ้ามีการนำรายได้เข้ามาในประเทศไทย จึงจะเก็บภาษี ดังนั้น ถ้าหากเจ้าของรายได้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในไทย ก็สะดวกกว่าที่จะจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในต่างประเทศ ไว้ในบริษัทต่างประเทศ

ที่น่าสงสัยคือ กรณีที่จัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินต่างประเทศ แต่ใช้สำหรับจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในประเทศไทย เพราะการใช้บริษัทต่างประเทศเพื่อการนี้ ได้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไปในประเทศ ตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อหุ้นจากฝรั่ง แล้วส่งหุ้นกลับเข้ามาถือไว้ในประเทศไทยแบบตรง ๆ โดยตั้งบริษัทขึ้นในไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ที่ถือหุ้น เมื่อหุ้นนั้นจ่ายเงินปันผล ก็จะถือเป็นรายได้ของบริษัทไทยผู้ที่ถือหุ้นนั้น บริษัทไทยผู้ที่ถือหุ้นนั้นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาลไทยทอดหนึ่ง และเมื่อใดที่บริษัทไทยดังกล่าวจ่ายเงินปันผลออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในไทย ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซ้ำอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ การที่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว เป็นธรรมแก่ผู้จ่ายและแก่ประเทศครับ เพราะผู้ที่ทำธุรกิจในไทย อยู่ได้โดยอาศัยข้าวแดงแกงร้อนที่รัฐบาลไทยจัดมีไว้ให้สำหรับคนไทยทุกคน

สถานการณ์กลับกัน ถ้าไปจัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินในต่างประเทศ แล้วใช้ชื่อบริษัทต่างประเทศนั้นเป็นผู้ที่ถือหุ้น เมื่อหุ้นนั้นจ่ายเงินปันผล ก็จะถือเป็นรายได้ของบริษัทต่างประเทศ ในการส่งเงินปันผลออกไปนอกประเทศ ก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียงนิดหน่อย แต่บริษัทต่างประเทศนั้นไม่ต้องนำรายได้เงินปันผล มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ประเทศไทย และเนื่องจากเป็นศูนย์การเงิน จะไม่ต้องเสียภาษีที่ศูนย์การเงินนั้นเสียด้วย รวมทั้งในอนาคต เมื่อบริษัทต่างประเทศจ่ายเงินปันผล ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในไทย ถ้าผู้ถือหุ้นที่แท้จริงไม่โอนเงินกลับมาไทย ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่รัฐบาลไทยอีกด้วย เรียกว่ากำไรสองต่อ

อย่างนี้ ถ้าไม่บรรยายว่าการจัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินต่างประเทศ ทำให้ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในไทยชุดเดียวกัน ได้เปรียบทางภาษีมากกว่าชาวบ้าน แล้วจะบรรยายว่าอะไร

มีคนส่งข้อมูลในเพจ Banyong Pongpanich ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับคนไทยที่จัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินของเขาเป็นกรณีที่เดิมบริษั...

Posted by Thirachai Phuvanatnaranubala on Friday, April 8, 2016

กำลังโหลดความคิดเห็น