xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! สนช.ชงคำถามประชามติ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ให้ กกต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 142 เสียง เห็นชอบตั้งคำถามพ่วงประชามติ และ 152 เสียงเห็นชอบบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ให้ที่ประชุมร่วม ส.ส.- ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาประเด็นคำถามของ สนช. ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 39/1 วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 โดย นายกล้านรงค์ จันทิก รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. คนที่ 1 ชี้แจงว่า กรรมาธิการสามัญของ สนช. รวมถึงสมาชิก สนช. ที่เสนอมาเป็นรายบุคคล ส่วนใหญ่เสนอเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ส.ว. ให้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในระยะเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่ อาทิ กมธ. กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ กมธ. สาธารณสุข กมธ. ต่างประเทศ กมธ. คมนาคม กมธ. ปกครองท้องถิ่น กมธ. วิทยาศาสตร์ และ กมธ. พลังงาน

นอกจากนี้ ในส่วนของ กมธ. พลังงาน และ กมธ. วิทยาศาสตร์ ยังเสนอเพิ่มเติมให้รวมอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมถึงมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลังจาก กมธ. สามัญพิจารณาศึกษาฯ ทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมดแล้ว เห็นว่าควรเสนอคำถามโดยเน้นความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นหลักในการพิจารณา จึงเห็นว่าควรตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ระหว่าง 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับการให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติ ก่อนที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะขอมติที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่ สนช. จะส่งคำถามประชามติต่อ กกต. โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 142 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง

จากนั้น นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นคำถาม คือ ที่ประชุม สนช. เห็นชอบหรือไม่ว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 152 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง

ทั้งนี้ นายพรเพชร แจ้งว่า เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว ตนจะส่งคำถามให้ กกต. เพื่อทำประชามติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น