xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” รับร่างตามความรู้สึกไม่ได้ ชี้การเมืองฉุนตัดช่องทุจริต ฉะเห็นต่างต้องรู้จักฟัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ปธ.กรธ.ปาฐกถา รับเป็นครั้งแรกที่มีกรอบร่างตามความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ชี้อะไรที่โหดร้ายก็ไม่ใช่จาก กรธ.อย่างเดียว ทำตามกรอบ ทั้งเรื่องปราบทุจริต แจงนักการเมืองโกรธยุคว่ำร่าง เหตุตัดการใช้งบเพื่อประโยชน์การเมือง ดักชักเปอร์เซ็นต์ ย้ำรัฐห้ามคนนอกสั่งการ แก้ รธน.ยากกันเสียงข้างมากไม่ฟัง ย้ำมี ส.ว.สรรหา ดูแลปฏิรูปเน้นการศึกษา เฉ่งกลุ่มเห็นต่างป่วนงาน ต้องรู้จักรับฟัง อดทนอดกลั้น

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงปาฐกถาเรื่องกรอบแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.เนื่องในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2559 ว่า ตนร่างรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถร่างตามความรู้สึกของตัวเองได้ โดยกรอบแรกคือรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ส่วนกรอบที่ 2 คือ การรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บางครั้งอะไรที่ดูโหดร้ายก็ไม่ใช่ความตั้งใจของ กรธ.เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นไปตามกรอบ เพราะไม่ว่าใครมาร่างอีกกี่หนก็เป็นแบบนี้ ซึ่งในส่วนความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ก็มีความตื่นตัวมากต่อร่างรัฐธรรมนูญ

นายมีชัยกล่าวต่อว่า กรธ.ได้มีการดำเนินการยกร่างตามกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การปราบปรามการทุจริตมีการเขียนหลายมาตรา เช่น การห้ามไม่ให้ ส.ส.แปรญัตตินำเงินงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการงบประมาณได้ใช้อำนาจตัดงบประมาณของหน่วยงานราชการไปกองไว้ส่วนกลาง เพื่อให้ ส.ส.ในสังกัดเขียนโครงการไปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และเมื่อทำโครงการก็มีการชักเปอร์เซ็นต์ ทำให้งบประมาณไม่ถึงประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เพิ่มมาตรการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบได้ หากมีความผิดจริงจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ที่นักการเมืองรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพราะเขาโกรธตรงนี้ ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เข้มงวดเกินปกติ ยึดตามหลักคุณสมบัติของกำนันผู้ใหญ่บ้านให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายมีชัยกล่าวต่อไปว่า ในส่วนหน้าที่ของรัฐนั้นผูกพัน ครม.ให้ใช้อำนาจโดยสุจริต เปิดเผยโปร่งใส และยึดประโยชน์ส่วนรวมทุกภาคส่วนให้สุขสงบ อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ถูกคนนอกสั่งการได้ นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติกลไกป้องกันนโยบายประชานิยม ที่กล่าวหาว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากก็ไม่จริง เพราะเมื่อองค์กรอิสระไปตรวจสอบนโยบายแล้วพบว่าอาจมีปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวก็ให้รายงานให้ ครม.และสภาผู้แทนราษฎรรับทราบและตัดสินใจเอง เป็นเพียงมาตรการเตือนเท่านั้น ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะยากมากกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมาถ้าเสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อยจะมีปัญหา แต่ถ้าเห็นดีงามกันหมดก็แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไม่มีปัญหา และในหมวดสุดท้ายเรื่องกลไกการปฏิรูป 5 ปี เป็นเรื่องอนาคตเพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งการให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมด เพื่อดูแลการปฏิรูปให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่ง กรธ.ได้เน้นการปฏิรูปการศึกษาและกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของบ้านเมือง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างกับร่างแรกเป็นอย่างมาก ตามที่ กรธ.ได้ร่างตามกรอบและข้อเสนอของภาคประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญใช้กับทุกคนที่มีความหลากหลาย ไม่สามารถทำให้ใครได้รับตามที่ตนต้องการได้โดยสมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายมีชัยกำลังแสดงปาฐกถาอยู่นั้น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ชูป้ายข้อความที่เขียนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญอย่าทำร้ายเยาวชน, เอา ม.ปลายฟรีของเราคืนมา” และ “อนุบาลฟรีก็ดี แต่ ม.ปลาย, สายอาชีพฟรีก็ต้องมี ไม่ต้องง้อกองทุน, เอา ม.ปลายฟรีของเราคืนมา” ทำให้เจ้าหน้าที่และอาจารย์เข้ามาควบคุมสถานการณ์ โดยนายมีชัยกล่าวว่า นี่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากว่ายังไม่มีความอดทนอดกลั้น จากนั้นเมื่อเหตุการณ์สงบลงช่วงหนึ่ง ก่อนการปาฐกถาจบ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พร้อมด้วยแนวร่วมได้สวมหน้ากาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เข้ามาชูป้ายข้อความรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่และอาจารย์ต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง ทำให้นายมีชัยกล่าวก่อนจบปาฐกถาว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างจะเกิดประโยชน์ต้องรู้จักรับฟัง เราต้องเรียนรู้ประสบการณ์จะเข้าใจมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น