xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งปรับมาตรฐาน “ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ” 878 แห่งทั่วประเทศใหม่ เพิ่มบุคลากรไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท. สั่งปรับมาตรฐาน “ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ” จำนวน 878 ศูนย์ทั่วประเทศ “กรมการปกครอง” ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ พร้อมกำหนด 8 เกณฑ์ ปี 2559 ใหม่ เพิ่มบุคลากรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อย่างน้อย 1 คน จัดทำบัญชีรายชื่อคณะผู้ไกล่เกลี่ย จัดทำขั้นตอนให้ประชาชนรับรู้ มีห้องไกล่เกลี่ยเป็นสัดส่วน จัด ชปต. ลงพื้นที่ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

วันนี้ (31 มี.ค.) มีรายงานว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ จำนวน 878 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดให้เป็นร้อยละของอำเภอที่พัฒนาศูนย์อำนวยความเป็นธรรมอำเภอให้มีมาตรฐาน ประจำปี 2559 จำนวน 8 ข้อ โดยเพิ่มค่าความเข้มข้นที่สะท้อนความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบงานให้มากขึ้นกว่าเดิม และรวบรวมเสนอกรมการปกครองภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

มีรายงานว่า กรมการปกครอง ได้กำหนดเกณฑ์ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ประจำปี 2559 จำนวน 8 ข้อ ในด้านการปฏิบัติงาน

1. ให้มีบุคลากรที่รับผิดชอบมีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับงาน หมายถึงมีบุคลากรที่มีคุณวุฒิด้านกฎหมาย หรือผ่านด้านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ของกรมการปกครอง ได้แก่ หลักสูตรนายอำเภอ หลักสูตรสืบสวนสอบสวนของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อย่างน้อย 1 คน ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ

2. มีการจัดทำบัญชีรายชื่อคณะผู้ไกล่เกลี่ยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. มีการจัดทำขั้นตอนแสดงกระบวนงานและระยะเวลาในการบริหารงานตามภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมอำเภอให้ประชาชนรับทราบ

4. มีการประเมินความพึงพอใจจากประชาชนผู้รับบริการ ประเมินโดยใช้แบบสอบถาม แบบประเมินผล มีการวิเคราะห์ สรุปผล สามารถนำมาปรับปรุงการบริการได้

ด้านการดูแลปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงาน

5. มีห้องสำหรับการไกล่เกลี่ยเป็นสัดส่วน

6. สภาภูมิทัศน์ทั่งภายในและภายนอกเป็นระเบียบ และสะอาด

ด้านปฏิบัติงานเชิงรุก

7. มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง และการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น การจัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ หรือสื่ออื่น ๆ ได้แก่ โซเชียลมีเดีย วิทยุชุมชน สื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น การประชุมระดับต่าง ๆ

8. ชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) ชุดใดชุดหนึ่ง มีการออกปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

มีรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (ศปก.นรม.) ยังได้จัดทำแผนงานติดตามการแก้ปัญหาเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมระดับจังหวัดทุกวันอังคารสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะรายงานนายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหา โดยกำหนดพูดคุยกันระหว่างเดือน มี.ค. 59 - ก.พ. 60 เป็นระยะเวลา 1 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น