xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดชื่อ 34 เครื่องสําอางห้ามผลิต นําเข้า หรือขายในประเทศไทย มีผลพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มีผลพรุ่งนี้! เปิดชื่อ 34 เครื่องสําอาง “ครีม-ครีมรักษาฝ้า-กันแดด-รักษาสิว-ลบริ้วรอย” สั่งห้ามผลิต นําเข้า หรือขายในประเทศไทย มีผลพรุ่งนี้เช้า “กระทรวงสาธารณสุข” ออกประกาศ 3 ฉบับ กําหนดชื่อ-ลักษณะของเครื่องสําอาง พร้อมตั้ง 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเครื่องสําอาง มีชื่อ “เจ้าของผลิตภัณฑ์ชื่อดัง” ร่วม

วันนี้ (28 มี.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ดังนี้

ฉบับแรก “ประกาศเรื่อง กําหนดชื่อเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการเครื่องสําอาง ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้เครื่องสําอางที่มีชื่อดังต่อไปนี้ เป็นเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย (๑) BEANNE บีแอน ครีมไข่มุกตราแตร (๒) แอนตี้-ฟาร์ ครีม (๓) แอนตี้-ฟาร์ โลชั่นกันฝ้า ปรับผิว (๔) ROSE ครีมขจัดฝ้า (๕) FAR-ACT ครีมรักษาฝ้า(๖) CN คลินิก 99 (๗) ครีมฝ้าเมลาแคร์ (๘) โลชั่นกันแดด กันฝ้า เมลาแคร์ (๙) ครีมวินเซิร์ฟ (๑๐) โลชั่นวินเซิร์ฟ ลดฝ้ากันแดด

(๑๑) MUI LEE HIANG PEARL CREAM (๑๒) เอสจี โลชั่นปรับสภาพผิว (๑๓) เลนาว ครีมบํารุงผิวหน้ากลางคืน(๑๔) NEW CARE นิวแคร์ ครีมประทินผิว (๑๕) NEW CARE นิวแคร์ โลชั่นปรับสภาพผิว (๑๖) 3 ทรีเดย์ ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน ครีมลดริ้วรอยหมองคล้ำ (๑๗) 3 ทรีเดย์ ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน โลชั่นป้องกันแสงแดด (๑๘) 3 ทรีเดย์ เนเชอรัล ครีมทาสิว (๑๙) 3 ทรีเดย์ เนเชอรัล โลชั่นป้องกันแสงแดด

(๒๐) พรีม ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน ครีมลดริ้วรอย (๒๑) พรีม ไบรเทน แอนด์ รีไวเทน โลชั่นป้องกันแสงแดด (๒๒) มิสเดย์ ครีมแก้สิว (๒๓) มิสเดย์ ครีมแก้ฝ้า (๒๔) พอลล่า ครีมทาสิว (๒๕) พอลล่า ครีมทาฝ้า (๒๖) พอลล่า โลชั่นกันแดดรักษาฝ้า(๒๗) ครีมชาเขียว DR. JAPAN (๒๘) ครีมชาเขียว MISS JAPAN (๒๙) ชิชาเดะ ครีมหน้าขาว โสมผสมไข่มุกญี่ปุ่น(๓๐) ครีมบัวหิมะ หลิง หลิง (๓๑) ครีม QIAN MEI (๓๒) ครีม QIAN LI (๓๓) ครีม CAI NI YA (๓๔) ครีม JIAO LING

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ปิยะสกล สกลสัตยาทร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

ฉบับที่ 2 “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดลักษณะของเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขายพ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการเครื่องสําอาง ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้เครื่องสําอางที่มีคุณสมบัติทางจุลชีววิทยาตามที่กําหนดไว้ดังต่อไปนี้ เป็นเครื่องสําอาง ที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย

(๑) เครื่องสําอางที่ตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ดังต่อไปนี้

(ก) ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) (ข) สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) (ค) แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) (ง) คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสําอางผสมสมุนไพร)

(๒) เครื่องสําอางที่ใช้บริเวณรอบดวงตา เครื่องสําอางที่สัมผัสเยื่อบุอ่อน และเครื่องสําอาง สําหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี ที่ตรวจพบจํานวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (Total aerobic plate count) มากกว่า ๕๐๐ โคโลนีต่อกรัม หรือลูกบาศก์เซนติเมตร ขึ้นไป

(๓) เครื่องสําอางอื่น นอกเหนือจากที่กําหนดใน (๒) ที่ตรวจพบจํานวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (Total aerobic plate count) มากกว่า ๑,๐๐๐ โคโลนีต่อกรัม หรือลูกบาศก์เซนติเมตร ขึ้นไป

ข้อ ๒ คุณสมบัติทางจุลชีววิทยาตามข้อ ๑ ให้ทดสอบตามวิธีที่ระบุไว้ในมาตรฐาน International Organization for Standardization (ISO) หรือ United States Pharmacopeia (USP) ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ฉบับล่าสุด หรือวิธีอื่นที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ

ข้อ ๓ ให้เครื่องสําอางที่ใช้ภาชนะบรรจุที่มีลักษณะเป็นกระบอกฉีดยา (Syringe) หรือที่มี ลักษณะเป็น Ampoule หรือ Vial หรืออยู่ในภาชนะบรรจุใดๆ ที่ใช้เครื่องมือประกอบในการผลักดันสาร เข้าสู่ผิวหนัง เช่น Iontophoresis, Mesotherapy เป็นต้น เป็นเครื่องสําอางที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย

ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ปิยะสกล สกลสัตยาทร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

ฉบับสุดท้าย “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเครื่องสําอาง พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงประกาศแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการเครื่องสําอาง

๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณา ศรีวิริยานุภาพ เป็นกรรมการ ๒. รองศาสตราจารย์สมลักษณ์ คงเมือง เป็นกรรมการ ๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค เป็นกรรมการ ๔. นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ เป็นกรรมการ ๕. นาวาอากาศตรีหญิง นลินี ไพบูลย์ เป็นกรรมการ ๖. นางเกศมณี เลิศกิจจา เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙
ปิยะสกล สกลสัตยาทร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”

มีรายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์สมลักษณ์ คงเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม ศิลปากรและ กรรมการสมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย), ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค อดีตคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, นาวาอากาศตรีหญิง นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ - บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด, นางเกศมณี เลิศผู้บริหารบริษัท แอดว๊านซ์คอสเมติคส์ จำกัด นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น