“กรุงเทพโพลล์” สำรวจประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้ ส.ว.ร่วมซักฟอกรัฐบาล แต่หนุน ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน เชียร์ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รับได้นายกฯ คนนอก ขณะเดียวกันก็ไม่คาดหวัง รธน.ใหม่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,073 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.2 เห็นว่าผู้ที่ควรทำหน้าที่ในการอภิปราย และลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาฯ ควรเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ขณะที่ร้อยละ 29.8 เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ที่เหลือร้อยละ 17.0 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นต่อการได้มาซึ่ง ส.ว.โดยวิธีการสรรหาเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านควบคู่ไปกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติชุดใหม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.8 เห็นด้วยกับวิธีนี้ ขณะที่ร้อยละ 40.4 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 12.8 ไม่แน่ใจ
สำหรับความเห็นที่มีต่อบัตรเลือกตั้งนั้น ประชาชนร้อยละ 54.8 เห็นว่า ควรใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยใบแรกใช้เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ส่วนใบที่สองไว้สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่ร้อยละ 41.0 เห็นว่า ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งใช้เลือกทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเขตและนำไปคิดสัดส่วน ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ มีเพียงร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า “นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือไม่” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เป็นคนนอกก็ได้ ขณะที่ร้อยละ 40.0 ระบุว่านายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น และที่เหลือร้อยละ 3.8 ไม่แน่ใจ
ด้านความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเปิดเผยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ พบว่า ร้อยละ 53.2 ไม่ค่อยคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ขณะที่ร้อยละ 46.8 มีความคาดหวัง