xs
xsm
sm
md
lg

ปูด “เจ้าท่า” จ่อแก้กฎฯ เปิดทาง “แลนด์มาร์กเจ้าพระยา” สร้างล้ำลำน้ำได้ “บิ๊กป๊อก” รับปากสถาปนิกล้มแผนทางจักรยานในแม่น้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อต้นเดือนมีนาคม ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. ได้นำ นายกฯ และเลขาธิการ สภาสถาปนิก ผู้แทนภาคีวิชาชีพ  นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และผู้แทนภาคีวิชาการ ผ เข้าพบพล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือเรื่องโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ปูด “กรมเจ้าท่า” จ่อแก้กฎกระทรวงสมัยรัฐบาล 25 ปีที่แล้ว เปิดทาง “แลนด์มาร์กเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร” ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำได้ ด้าน กทม.ชง มท.1 เปิด 3 แผนรับฟังความคิดเห็น เจาะจง “กลุ่มคัดค้าน-สื่อ” เน้นชี้แจงประโยชน์ที่ได้รับ ความปลอดภัย เผยภาพ “สภาสถาปนิก ภาคีวิชาชีพ-วิชาการด้านสถาปัตย์” ตบเท้า พบ “บิ๊กป๊อก” เห็นพ้อง “ก่อสร้างสวน-ทางเดิน” ริมฝั่งแม่น้ำ เผย มท.1 เห็นด้วย ล้มแผนสร้างทางจักรยานในแม่น้ำ ตามที่สำนักการโยธา กทม.เคยเสนออย่างแน่นอน

วันนี้ (21 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ภายหลังเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหาร กทม.ได้ลงนามจ้างด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 14 กิโลเมตร ของ กทม. กำหนดเวลา 7 เดือน ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างในเดือน ต.ค. 2559 และโครงการจะสามารถแล้วเสร็จประมาณในปี 2561

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ได้รายงานความคืบหน้าการลงนามกับสองสถาบันให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบว่า กทม.มีแผนในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นและการประชาสัมพันธ์โครงการ 3 แนวทาง คือ 1. การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบและเข้าใจแนวคิดการดำเนินงานประโยชน์ที่ได้รับและความปลอดภัยโดยไม่ส่งผลกระทบตามวิถีชุมชนเดิม 2. การประชาสัมพันธ์เจาะจงกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจหรือกลุ่มที่คัดค้าน 3. การระดมความคิดเห็นจากประชาชนและภาคเอกชนหลายๆ กลุ่มและนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ให้ปรากฏต่อสาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลไปถึงประชาชนทั่วไป

มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนจากกรมเจ้าท่าได้แจ้งมหาดไทยเช่นกันว่า กรมเจ้าท่าได้ยกร่างแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 63 เกี่ยวกับการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็น โดยอยู่ระหว่างการประมูลความคิดเห็น เพื่อจัดทำข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรีและนำเสนอสำนักงานกฤษฎีกา

“ทั้งนี้ การแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และยังครอบคลุมถึงการปลูกสร้างในสถานที่อื่นๆ ซึ่งส่วนราชการจะขออนุญาตดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

มีรายงานว่า ร่างแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 63 เป็นการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ที่ให้ไว้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ลงนามโดย พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

โดยจะมีการแก้ไขในประเด็น “ล่วงล้ำลำน้ำ” ที่หมายความว่า ล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย หรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว ตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเล ดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

มีรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคมเช่นกัน ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. ได้นำนายกฯ และเลขาธิการ สภาสถาปนิก ผู้แทนภาคีวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร.วิภากร ธรรมวิมล นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และผู้แทนภาคีวิชาการ ผศ.ดร.ไขศรี ภักด์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือเรื่องโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

“ท่านรัฐมนตรีและภาคีมีความเห็นและความเข้าใจตรงกันว่า โครงการนี้จะต้องเป็นการออกแบบและก่อสร้างสวนและทางเดินริมฝั่งแม่น้ำตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อเนื่องกัน (จะมีทางจักรยานด้วยหรือไม่มีก็ได้) ไม่ใช่การก่อสร้างถนน หรือทางจักรยานในแม่น้ำตามที่สำนักการโยธา กทม.เคยเสนออย่างแน่นอน” รายงานข่าวระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น