“บิ๊กป๊อก” เผยแจ้งกำนัน-ผญบ.ทบทวนบทบาท หลังขู่ชุมนุมคว่ำร่างหาก รธน.ไม่บรรจุหมวดท้องถิ่น ดักอย่าทำกิจกรรมเสี่ยง กม. ไม่ตอบลิดรอนเสรีภาพหรือไม่ เผยเสนอความเห็น รธน.แล้วอยู่ที่ กรธ.พิจารณา แจง “ประยุทธ์” ลงพื้นที่อุทัยธานี 26 ก.พ.ดูประชารัฐ ประชุม กรอ. ดูจัดสรรที่ดิน ย้ำมีแผนรับภัยแล้ง
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เตรียมนัดชุมนุมทั่วประเทศ และคว่ำประชามติหากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่บรรจุหมวดการปกครองท้องถิ่นลงในรัฐธรรมนูญว่า ได้แจ้งทางสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ลองทบทวนบทบาทให้ดีว่ามันเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ต้องระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการมีช่องทางที่สามารถเสนอได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องมาจัดกิจกรรมในลักษณะที่ล่อแหลมทางกฎหมาย คิดว่าคงจะไม่มารวมกัน
เมื่อถามว่าจะไม่มารวมตัวกันหลังจากชี้แจงไปแล้ว รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเขาคงเข้าใจเพราะชี้แจงไปด้วยเหตุผล และตนไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะประเด็นที่จะแสดงความเห็นถือว่ามีหลายช่องทาง แต่การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ออกมารวมตัวกันเหมือนที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า ฝ่ายตรงข้ามจะมองว่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่า “ผมไม่ชอบคำถามแบบนี้ ไม่ตอบ เพราะเป็นความเห็น ผมไม่ตอบ”
พล.อ.อนุพงษ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของกระทรวงมหาดไทยว่า เป็นงานภายในหน้าที่ของกระทรวง ที่เสนอไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เรื่องนี้ตนคิดว่าต้องให้ความเคารพ กรธ.ว่าควรจะพูดหรือไม่ เพราะหากเสนอความเห็นไป แล้วสื่อมวลชนนำไปลงข่าว หากไม่เป็นตามนั้นก็ไปขยายต่อจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก เอาเป็นว่าให้เกียรติเขา เราเสนอได้ แต่ความเห็นขอให้อยู่ที่ กรธ.พิจารณาตามสมควร
พล.อ.อนุพงษ์ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ จ.อุทัยธานี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ว่า เป็นการลงพื้นที่เพื่อดูการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในเรื่องของประชารัฐ และมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน (กรอ.) รวมถึงดูในเรื่องการจัดสรรที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสที่สอง ซึ่งเป็นที่ของ ส.ป.ก. นอกจากนี้ยังมีรับฟังข้อเสนอในพื้นที่ด้วย
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฝ่ายประชารัฐที่รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ทำแผนงานโครงการขึ้นมาหมดไปทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ผ่านทาง ครม. ซึ่งก็อยู่ที่การนำนโยบายไปปฏิบัติว่าจะบริหารอย่างไร ผ่านทางศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์