xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ออกกฎกระทรวง 20 ข้อ คุม “รถโดยสาร-ขนส่งสินค้า” เน้นปลอดภัยเทียบสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“คมนาคม” ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ 20 ข้อ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก คุม “รถขนส่งผู้โดยสาร-ขนส่งสินค้า” เน้นการติดตั้งการบรรทุก เชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ระบบหน่วงความเร็ว อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง เข็มขัดนิรภัย ต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถลากจูงได้ สั่งเพิ่มพื้นที่เตรียมอาหาร-เครื่องดื่มบนรถโดยสารสาธารณะชั้นหนึ่ง พร้อมคุมความสูงของรถต้องไม่ทําให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เน้นความปลอดภัยเทียบเท่าสากล

วันนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

“ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ ๙ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (ฑ) ของ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฑ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทํางาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ถ) ของ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ถ) ระบบหน่วงความเร็วของรถซึ่งทําหน้าที่ชะลอความเร็วรถ ซึ่งมีคุณลักษณะ ระบบการทํางานสมรรถนะ และประสิทธิภาพของระบบหน่วงความเร็วของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีระบบหน่วงความเร็วของรถ ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (ฒ) และ (ณ) ของ (๒) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฒ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จํานวน และตําแหน่งการติดตั้งรวมทั้งประเภท และลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด

(ณ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัยรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๒ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๑ แล้วรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๖ จะต้องมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่สามารถลากจูงได้ในขณะเต็มอัตราบรรทุกและสามารถทําให้รถตอนท้ายเคลื่อนตัวและเลี้ยวตามรถตอนหน้าได้โดยปลอดภัย ทั้งนี้ อุปกรณ์ต่อพ่วงดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะ ระบบการทํางาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๕)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๗ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารซึ่งมีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม ให้มีที่เตรียมอาหาร และเครื่องดื่มขนาดพอสมควรอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารที่มีที่นั่งใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว”

ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความใน (ฌ) ของ (๑) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฌ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกําหนดจํานวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทํางาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๘ ให้ยกเลิกความใน (ฎ) และ (ฏ) ของ (๒) ของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฎ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จํานวน และตําแหน่งการติดตั้งรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด

(ฏ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัยรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๙ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของข้อ ๑๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๒) ความสูงภายนอกของรถเมื่อวัดในแนวดิ่งจากพื้นราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถไม่รวมกระจกเงาสําหรับมองด้านนอกตัวรถ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๘๐ เมตร เว้นแต่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๒ (ค) (ง) และ (จ) มาตรฐาน ๓ (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) และรถขนาดเล็ก ต้องมีความสูงไม่เกิน ๓.๒๐ เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน ๔ ต้องมีความสูงไม่เกิน ๔.๐๐ เมตร ความสูงภายในของรถให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด ความสูงของรถต้องไม่ทําให้การทรงตัวของรถต่ำกว่าเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๑๔/๒ ของหมวด ๑ สภาพเครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถขนาดเล็ก แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“ส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๑๔/๒ วัสดุที่นํามาใช้ในการผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบหรือการตกแต่งภายนอกหรือภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็ก ต้องมีคุณสมบัติในด้านการลุกไหม้ การลามไฟ การแผ่รังสี การละลาย หรือความเป็นพิษ ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด ประเภทและลักษณะของรถที่ต้องใช้วัสดุตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด”

ข้อ ๑๑ ให้ยกเลิกความใน (ฑ) ของ (๑) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฑ) ระบบไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสายไฟฟ้า ฉนวน สวิตซ์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นตามที่อธิบดีประกาศกําหนด จํานวน ขนาด คุณลักษณะ ระบบการทํางาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งการติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ถ) ของ (๑) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ถ) ระบบหน่วงความเร็วของรถซึ่งทําหน้าที่ชะลอความเร็วรถ ซึ่งมีคุณลักษณะ ระบบการทํางาน สมรรถนะ และประสิทธิภาพของระบบหน่วงความเร็วของรถ รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถ ที่ต้องมีระบบหน่วงความเร็วของรถ ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๓ ให้ยกเลิกความใน (ซ) และ (ฌ) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ซ) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จํานวน และตําแหน่งการติดตั้งรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด

(ฌ) เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ มาตรฐาน แบบ การติดตั้ง และการยึดเข็มขัดนิรภัยรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฎ) ของ (๒) ของข้อ ๑๕ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ฎ) อุปกรณ์สําหรับยึดตู้หรือถังบรรทุก ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ ประสิทธิภาพ การติดตั้งและการยึดตู้หรือถังบรรทุก รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สําหรับยึดตู้หรือถังบรรทุกตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑๖ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๑๖ นอกจากจะต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๑๕ แล้วรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๑ ลักษณะ ๒ ลักษณะ ๓ ลักษณะ ๔ ลักษณะ ๕ และลักษณะ ๙ ที่ใช้ลากจูงรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ ๖ ลักษณะ ๗ หรือลักษณะ ๘ ต้องมีจานพ่วงหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่มีคุณลักษณะ ระบบการทํางาน และสมรรถนะตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๖ ให้ยกเลิกความใน (ง) ของ (๒) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๕๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ง) อุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งมีคุณลักษณะ สี ขนาด จํานวน และตําแหน่งการติดตั้งรวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง ตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ฉ) ของ (๒) ของข้อ ๑๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“(ฉ) อุปกรณ์สําหรับยึดตู้หรือถังบรรทุก ซึ่งมีคุณลักษณะ สมรรถนะ ประสิทธิภาพ การติดตั้งและการยึดตู้หรือถังบรรทุก รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์สําหรับยึดตู้หรือถังบรรทุกตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด ข้อ ๒๓ ของหมวด ๒ สภาพเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“ส่วนที่ ๕ เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๒๓ วัสดุที่นํามาใช้ในการผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบหรือการตกแต่งภายนอกหรือภายในของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ ต้องมีคุณสมบัติในด้านการลุกไหม้ การลามไฟ การแผ่รังสี การละลาย หรือความเป็นพิษ ตามที่อธิบดีประกาศกําหนดประเภทและลักษณะของรถที่ต้องใช้วัสดุตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด”

ข้อ ๑๙ รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและรถขนาดเล็กที่จดทะเบียนก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ ๑๓ (๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎระทรวงนี้เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนตัวถังของรถ ให้ความสูงของรถเป็นไปตามที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้

ข้อ ๒๐ บรรดาระเบียบหรือประกาศที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔)ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศตามกฎกระทรวงนี้ออกมาใช้บังคับ

ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ออมสิน ชีวะพฤกษ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อกําหนดเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ และขนาดของรถตามที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานยานยนต์สากล อันจะทําให้การใช้รถในการขนส่งมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น