“สรรเสริญ” เผย UNHCR ยกย่องไทยพัฒนาการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ โดยเฉพาะนักเรียนไร้สัญชาติ แจงร่วมมือไทยหยิบยื่นโอกาส แจงนายกฯ กำชับ มท.เร่งพิสูจน์รายละเอียดบุคคลและให้สัญชาติ เพิ่มโอกาสเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐอย่างเท่าเทียม
วันนี้ (17 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย กล่าวยกย่องพัฒนาการของไทยในด้านการให้สัญชาติแก่นักเรียนไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศโดยระบุว่า
“ประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลไร้สัญชาติในไทย 18,733 ราย ได้รับสถานะบุคคล โดยเฉพาะนักเรียนไร้สัญชาติทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เด็กเหล่านี้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าถึงโอกาสเช่นเดียวกับเด็กไทยทั่วไป ช่วยให้เขาได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยให้ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่และสังคมไทยโดยรวมหลุดพ้นจากวงจรความยากจนและการพัฒนาที่เป็นไปอย่างล่าช้า”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ผู้แทน UNHCR ยังระบุด้วยว่า UNHCR ได้ร่วมมือกับไทยเพื่อหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กนักเรียนไร้สัญชาติ เช่น ตั้งจุดบริการบุคคลไร้สัญชาติตามโรงเรียนต่างๆ ใน อ.แม่ฟ้าหลวง และอ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยเด็กๆ และพ่อแม่จะได้รับความรู้เรื่องสัญชาติ และสามารถยื่นหลักฐานการเกิด ภูมิลำเนา และเอกสารอื่นๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งโครงการนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ผู้นำระดับอำเภอ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน และคนในท้องถิ่น
รัฐบาลนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีมาตรการสำคัญหลายประการ เช่น โครงการกำหนดสถานะให้แก่บุคคลไร้สัญชาติ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา จากการสำรวจข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 58 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศที่ยังไม่มีสัญชาติหรือสถานะบุคคล 69,670 ราย ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว 45,250 ราย และในจำนวนนี้ได้อนุมัติเพิ่มชื่อเป็นบุคคลสัญชาติไทยแล้ว 5,563 ราย
“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือประชาชนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยให้ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นคนไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
จึงได้กำชับให้ มท.เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายไม่ถึง 1,000 ราย ควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ส่วนจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เช่น ตราด ราชบุรี แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ ขอให้ผู้ว่าฯ กำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับเอาใจใส่และปฏิบัติงานอย่างจริงจัง”
ทั้งนี้ พัฒนาการของการให้สัญชาติแก่บุคคลไร้สัญชาติของไทย สอดคล้องกับรายงานความคืบหน้าความสุขโลกประจำปี 2016 ของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่มีหัวข้อการสนับสนุนทางสังคม โดยไทยมีอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ เป็นอันดับที่ 33 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์