สำนักข่าวอิศรา เผยผลสอบสื่อรับเงินเอแบคโพลล์ รวม 4.4 ล้าน พบอดีตนักข่าวช่อง 5 รับจริง 2.1 ล้าน ส่วนอดีตผู้ประสานงานโครงการพิเศษ ไทยพีบีเอส และ ผู้สื่อข่าวช่อง 11 โดนด้วย ชงองค์กรวิชาชีพจัดการ ขณะที่ แนวหน้า เดลินิวส์ รอด ข่าวสด บางกอกทูเดย์ ไม่มาแจง รับสืบไม่พบ “โอ - หนึ่ง” สังกัดไหน ด้าน ส.ส.ท. โร่แจงเผยลูกน้องพ้นสภาพพนักงานไปตั้งแต่ปี 53 จึงฟันไม่ได้ บอกเจ้าตัวอ้างเจอเงินใส่ซองจดหมายน้อยซุกเอกสารก็เข้าใจว่าคงให้กับทุกสำนัก
วานนี้ (12 มี.ค.) สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการของ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่ สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ่ายค่าตอบแทนให้กับสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาทที่มี นายเจษฎา อนุจารี กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธาน ในหัวข้อข่าว กก.สอบ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวรับเงิน “เอแบคฯ” พฤติการณ์ชัด 3 ราย! โดยพบว่า อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ปัจจุบันสังกัดสถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี ปรากฏชื่อเป็นผู้ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท หลังพบคำชี้แจงขัดแย้งกับข้อมูลในเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ และไม่ยอมส่งมอบหลักฐานประกอบการชี้แจงเพิ่มเติม คณะกรรมการจึงเห็นว่า เงินที่นักข่าวรายนี้ได้รับตอบแทนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ไป เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับนักข่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่า อดีตผู้ประสานงานโครงการพิเศษ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ยอมรับว่า ได้รับเงินตอบแทนจากการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เป็นจำนวนหลักพันบาท เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) ที่ยอมรับว่า ได้เงินช่วยเหลือจัดงานเลี้ยงและแข่งกีฬาสีปีใหม่ 6,000 บาท และเข้าไปรับจ้างทำงานส่วนตัวเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลในรูปของพรีเซนต์ข้อมูล อีก 16,000 บาท ส่วนขั้นตอนการรับเงินจะมีการโอนเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่มีการลงชื่อรับเงิน
สำนักข่าวอิศรา อ้างรายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้น คณะกรรมการได้สรุปผลสอบว่า ในส่วนของบุคคลทั้ง 3 รายนั้น คณะกรรมการเห็นว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และจะเสนอให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามธรรมนูญ ข้อบังคับประกาศ และแนวปฏิบัติของสภาและสมาคมวิชาชีพของแต่ละองค์กร
สำหรับนักข่าวหนังสือพิมพ์ นั้น ในส่วนของหนังสือพิมพ์แนวหน้า และ เดลินิวส์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับเงินค่าตอบแทน ส่วนหนังสือพิมพ์ข่าวสด และบางกอกทูเดย์ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ ไม่ได้มาให้ถ้อยคำแต่อย่างใด ขณะที่เงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับบริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ได้รับการยืนยันว่า เป็นค่าซื้อบริการข้อมูลข่าวออนไลน์ ไม่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนนักข่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีนักข่าวบางส่วนที่มีการลงบันทึกข้อมูลเป็นชื่อเล่น “โอ - หนึ่ง” แต่ไม่ปรากฏชื่อ - นามสกุลจริง และต้นสังกัด จึงทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ว่าเป็นใคร
ทั้งนี้ คณะกรรมการยังเห็นควรเสนอให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรพิจารณา ขอความร่วมมือจากสมาชิกในองค์กรของตนช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงในองค์กรสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับตารางค่าใช้จ่ายที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์จ่ายแก่นักข่าว และแถลงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ว่า มีผู้ประกอบวิชาชีพข่าวในองค์กรสมาชิกใดได้รับเงินค่าตอบแทนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และมีการลงโทษอย่างไรหรือไม่ เพื่อสร้างความโปร่งใสในวงการวิชาชีพสื่อมวลชน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวบางคนยังคงเห็นว่าการรับเงินค่าตอบแทนจากแหล่งข่าวเพื่อการนําเสนอข่าว การรับเลี้ยงอาหาร และการขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าวเป็นเรื่องปกติ ตลอดจนมีการใช้การประกอบวิชาชีพข่าวไปรับจ้างทํางานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ให้แก่แหล่งข่าว อันอาจมีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดกัน
จึงเห็นควรเสนอให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรจัดทําคู่มือ หรือแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าวในการรับเงิน หรือค่าตอบแทน หรือการขอความสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ตลอดจนการใช้สถานะการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพข่าวไปรับจ้างทํางานประชาสัมพันธ์ให้แก่แหล่งข่าว และขอความร่วมมือจากองค์กรสมาชิกได้ทําความเข้าใจร่วมกันกับผู้ประกอบวิชาชีพข่าวในการรับเงินหรือค่าตอบแทนหรือขอการสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าวจากแหล่งข่าวและการใช้สถานะผู้ประกอบวิชาชีพข่าวไปรับจ้างทํางานให้แก่แหล่งข่าว
ขณะที่ ผู้ประกอบกิจการและหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ยังนิยมการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวเพื่อให้เสนอข่าวให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เห็นควรเสนอให้องค์กรสื่อมวลชนจัดแถลงข่าว หรือมีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการและหน่วยงานราชการทุกแห่ง ห้ามให้เงินหรือค่าตอบแทนหรือเงินสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี นายเจษฎา อนุจารี กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธาน นายปฏิวัติ วสิกชาติ กรรมการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายเสด็จ บุนนาค รองเลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรมสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายคทาธร อัศวจิรัฐติกรณ์ รองเลขาธิการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายสุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยได้ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัย และพบสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และหน่วยงานเครือข่าย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย รวมเป็นเงิน 48,496,608.14 บาท โดยในนั้นมีค่าตอบแทนสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาทอยู่ด้วย
ล่าสุด วันนี้ (13 มี.ค.) งานสื่อสารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวนั้น ส.ส.ท. จึงเรียนมาเพื่อชี้แจงให้ทราบดังนี้ 1. ส.ส.ท. เป็นองค์กรที่มีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน และลูกจ้าง มาโดยตลอด แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวเป็นการภายในมาแล้วหลายครั้ง 2. ส.ส.ท. ได้ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยสมาคมวิชาชีพทั้ง 4 แห่ง ในการให้ข้อมูลมาโดยตลอด และเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และครบถ้วน ในทุกประเด็นที่คณะกรรมการต้องการทราบ
3. การยึดมั่นในข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้ ส.ส.ท. ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ตั้งแต่ที่ปรากฏเป็นข่าวของสำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 4. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ส.ส.ท. ตามคำสั่งที่ 186/2558 ได้สรุปผลการสอบสวน ให้กับผู้อำนวยการ ส.ส.ท. แล้ว พบว่า มีผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งที่ออกไปทำงานในวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ให้ข้อมูลเป็นเอกสารว่า ได้รับมอบหมายให้ออกไปทำงานแถลงข่าวที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์
“เมื่อทำงานเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ แจ้งว่า มีเอกสารจะมอบให้เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม และได้ยื่นเอกสารขนาดเอ 4 ให้ ระบุว่า เป็นผลการสำรวจที่สำนักวิจัยได้เก็บรวบรวมไว้เป็นสถิติ ต่อมาภายหลังได้ดูเอกสารดังกล่าว พบว่า มีซองกระดาษคล้ายซองจดหมายขนาดเล็กสอดมาในเอกสารดังกล่าวด้วย เมื่อเปิดออกพบว่าข้างในมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยคิดว่าตนเองสามารถรับเงินดังกล่าวไว้ได้ และเข้าใจว่า สำนักวิจัยคงมอบเงินให้เป็นสินน้ำใจกับนักข่าวทุกคนที่ไปทำข่าวให้ ดังนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงสรุปว่า การกระทำของพนักงานคนดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับ จริยธรรม ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 และข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพ จึงมีมูลกล่าวหาว่า พนักงาน ส.ส.ท. คนดังกล่าว กระทำผิดวินัย”
และต่อมาพนักงานคนดังกล่าวได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของ ส.ส.ท. เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ดังนั้น จึงไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบ ส.ส.ท. ว่าด้วยข้อปฏิบัติทางวินัย และการดำเนินการทางวินัยของพนักงานและลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริหาร ส.ส.ท. มีความตระหนัก และมีการเน้นย้ำกับพนักงานในเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตลอดเวลา และยังมีความตระหนักในความสำคัญขององค์กรวิชาชีพ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบติดตามผล และการกำกับดูแลกันเองมาโดยตลอด