วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จังหวัดฟูกุชิมะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ซึ่งอยู่ใต้ทะเล ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนนามิ ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่ง อันเป็นที่ตั้งของอาคาร บ้านพักอาศัย รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิชิ
น้ำทะเลที่ไหลเข้าไปในโรงไฟฟ้า ทำให้ไฟชอร์ต ระบบหล่อเย็นเสียหาย ใช้การไม่ได้ ความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทำให้แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 3 ใน 6 เครื่อง หลอมละลาย กัมตภาพรังสีรั่วไหลแผ่กระจายออกสู่ภายนอก ในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับอันตรายสูงสุด เทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ระเบิด
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เป็นโรงไฟฟ้าของบริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาเวอร์ หรือ เท็ปโก้ ซึ่งอวดว่า เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่มีเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยที่สุด มีความปลอดภัยสูงสุด มีวิศวกรระดับหัวกระทิอยู่จำนวนมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีคำว่าปลอดภัย ไร้ความเสี่ยงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่มีใครให้คำรับรองได้หรอกว่า ระบบป้องกันการรั่วไหลของกัมตภาพรังสี ที่มีอยู่ จะได้ผลจริงหรือไม่ จนกว่าจะเกิดการรั่วไหลขึ้น ซึ่งถึงเวลานั้นก็สายเกินไปแล้ว และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อม ไม่อาจประเมินค่าได้ เป็นความเสียหายที่ถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆไป
ห้าปีผ่านไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ เหมือนระบิดเวลาลูกใหญ่ที่ไม่มีใครรู้ว่า จะระเบิดขึ้นมาเมื่อไร ผืนแผ่นดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในรัศมี12 ไมล์รอบโรงงาน เป็นพื้นที่ต้องห้าม เพราะมีการปนเปื้อนรังสี ประชาชนหลายพันคนที่อพยพหนีภัยเมื่อห้าปีที่แล้ว ยัง กลับบ้านไม่ได้
ในแต่ละวัน เท็ปโก้ต้องบำบัดและเก็บกักน้ำฝน และน้ำใต้ดิน ปริมาณวันละ 400 ตัน ที่ซึมเข้าใปเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ในบริเวณโรงไฟฟ้า มีถังขนาดมหึมาตั้งอยู่ 1พันถัง แต่ละถังมีน้ำ 1200 ตัน อยู่ข้างใน เป็นน้ำทะเลที่ถูกสูบเข้ามาหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์ปรมาณูไม่ให้ระเบิดในวันแรกๆ และน้ำใต้ดินที่ซึมเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ เป็นน้ำที่ปนเปื้อนกัมมตรังสี ที่ยังไม่รู้ว่า จะกำจัดอย่างไร
เท็ปโก้ประเมินว่า จะต้องใช้เงินถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการรื้อถอนโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี แต่ยังไม่รู้ว่า จะใช้วิธีการใด เรื่องที่ยากที่สุดคือ ไม่รุ้ว่า ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 3 เตาที่หลอมละลาย มีสภาพอย่างไรบ้าง เพราะไม่มีมนุษย์สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจากมีกัมตภาพรังสีสูงมาก เคยมีการส่งหุ่นยนต์พร้อมกล้องเข้าไปสำรวจสองครั้ง แต่ล้มเหลวเพราะไปสะดุดซากปรักหักพังจนล้มคว่ำลง
เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะผ่านไปห้าปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม เพิ่งจะเริ่มต้น ไม่มีใครรู้ว่า อะไรรออยุ่ข้างหน้า จะจัดการกับมันอย่างไร นี่คือ ราคาของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่อ้างกันว่า ประหยัด สะอาด ปลอดภัย ซึ่งไม่มีใครนึกภาพออกว่า ราคาที่ต้องจ่ายสูงขนาดไหน จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
ในประเทศไทย ความพยายามที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มีมานานแล้ว ประมาณ 50 ปี แต่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารคือ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีการอนุมัติ การร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ และมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมทั้งงบประมาณก้อนใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2550
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ทุกฉบับตั้งแต่ปี 2550 มีแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์รวมอยู่ด้วย
หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. มีมติระงับการดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ก่อนเป็นเวลา 3 ปี
มาถึงยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอีกครั้ง คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แผนการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกงัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มาในรูปของ การประกาศใช้ ร่าง พรบ. พลังงานนิวเคลียร์
ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี วันที่ 4 สิงหาคม 2558 มีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่าง พรบ. พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นผู้เสนอ
วันที่ 11 กพ. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) มีมติรับหลักการ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา รายละเอียดภายใน 60 วัน
หัวใจสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ การตั้ง คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ทำหน้าที่ กำกับดูแลการใข้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์
ในร่างกฎหมายนี้ ยังมีคำว่า “ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ “ 6 ประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เพื่อผลิตเชื้อเพลิง
ร่าง พรบ. พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งผ่าน สนช. วาระแรกไปแล้ว จึงเป็นกฎหมายที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ออกมาเพื่อรองรับ การตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดย คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้กำหนดกฎ กติกา หรือเปล่า
ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน ปีที่แล้ว กระทรวงพลังงานก็เริ่ม “ งานมวลชน” สร้างฐานสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผ่าน "โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาทัศนคติ ที่มีต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และสื่อมวลชน ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัด
ยุทธศาสตร์ 9 จังหวัด และจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับจังหวัดยุทธศาสตร์ 20 จังหวัด
โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มีทั้งข้อดี ข้อเสีย หน่วยงานรัฐที่รับหน้าเสื่อในการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างกระทรวงพลังงาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มักจะพูดถึงแต่ด้าน ดี ส่วนด้านลบในเรื่อง ความปลอดภัย ก็มักจะอ้างว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี่ด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย สามารถควบคุม การรั่วไหลได้
หายนะภัยที่โรงไฟฟ้าฟุกูชิมะ เป็นเหตุการร์ร่วมสมัยที่เพิ่งผ่านไปเพียงห้าปี เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า อุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะมีความเสียหายมากมายมหาศาล ที่ส่งผลอันตรายนับชั่วอายุคน และยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันได้ ได้แต่ลองผิดลองถูก
คนไทย จะต้องไม่ลืมหายนะ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ