xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นัดถกร่างแก้ รธน.ปมประชามติ พฤหัสนี้ ยังไม่ได้ถกตั้งคำถามพ่วงหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผย สนช. นัดพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ปมประชามติ 10 มี.ค. 3 วาระรวด ไม่กำหนดเวลา คาด กกต. ส่ง ร่าง พ.ร.บ. ประชามติ หลัง 22 มี.ค. ยังไม่ได้หารือจะตั้งคำถามพ่วงหรือไม่ รอได้ร่าง รธน. ฉบับสมบูรณ์ก่อน ชี้ ไม่ควรมีเนื้อหาขัดแย้งร่าง ด้าน “กิตติศักดิ์” อ้างสมาชิกหนุน ส.ว. สรรหาหมด

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ว่า ในวันที่ 10 มี.ค. สนช. จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพิ่มเติม โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งในวาระแรกและวาระสามจะลงมติขานชื่อรายบุคคล ส่วนวาระสองใช้การโหวตออกเสียง ดังนั้น ก่อนลงมติจะให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ ไม่ได้กำหนดเวลาเช่นครั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ คาดว่า กกต. จะส่งมาให้สนช.พิจารณาหลังวันที่ 22 มี.ค. ทั้งนี้ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะใช้บัตรใบเดียว แต่แยกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกถามว่า จะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอีกส่วนจะเป็นคำถามของ สนช. ซึ่ง สนช. ยังไม่ได้หารือว่า จะตั้งคำถามหรือไม่ หรือจะตั้งคำถามว่าอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่จะออกมาในวันที่ 29 มี.ค. หากจะไปตั้งคำถามล่วงหน้าคงลำบาก หลังจากที่ สนช. ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์จาก กรธ. แล้ว จะมีเวลา 15 วัน ในการพิจารณาเรื่องการตั้งคำถามประชามติ เพื่อส่งให้ กกต. นำไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามประชามติของ สนช. ไม่ควรจะมีเนื้อหาในลักษณะที่อาจจะเกิดการขัดแย้งกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวถึงการตั้งคำถามทำประชามติของ สนช.ว่า สนช. ยังไม่ตกผลึกว่าจะตั้งคำถามประชามติหรือไม่ หรือถ้าจะตั้งคำถาม จะถามเรื่อง แต่เท่าที่ได้คุยกับเพื่อน สนช. อย่างไม่เป็นทางการ มีการเสนอคำถามประชามติที่ต่างกันไป อาทิ เห็นด้วยกับการใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงหรือไม่ เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ หรือเห็นด้วยกับการให้มี ส.ว. จากการแต่งตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหรือไม่ เรื่องการตั้งคำถามประชามติคงให้เป็นอำนาจของผู้ใหญ่ใน สนช. และวิป สนช. หารือกันว่า จะทำอย่างไร คงไม่ถึงขั้นให้สมาชิก สนช. มาลงมติโหวตกันว่า จะถามคำถามเรื่องใด จะตั้งคำถามประชามติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่คุยกัน สนช. เห็นตรงในหลักการว่า ควรมี ส.ว. จากการสรรหาทั้งหมดในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อมาช่วยประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะเห็นว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง จะเกิดการไม่ยอมรับจากอีกฝ่าย จึงควรมี ส.ว. สรรหา มาช่วยประคับประคองสถานการณ์ประเทศช่วงหลังเลือกตั้ง แต่ สนช. คงพูดประเด็นนี้มากไม่ได้ เพราะอาจถูกมองว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการจะได้เข้ามาเป็น ส.ว. ครั้งหน้า แต่ถ้าปล่อยไปความเสียหายจะมีมากกว่านี้เยอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น