xs
xsm
sm
md
lg

เปิด พ.ร.บ.แบงก์ชาติฉบับใหม่ สกัดฝ่ายการเมือง ตั้ง ปธ.-ผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ด ธปท.โดยมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด พ.ร.บ.แบงก์ชาติฉบับใหม่ สกัดฝ่ายการเมือง ตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.โดยมิชอบ พร้อมยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 28/1 ฉบับปี 2585 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) ปี 2551 เผยในอดีต “หมอเลี้ยบ” เคยถูกกล่าวโทษตั้งกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคนมีลักษณะต้องห้าม

วันนี้ (7 มี.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้

“โดยสาระสำคัญในมาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑

“ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรานี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และให้คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยจะต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๒๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งไม่เกิน ตำแหน่งละหนึ่งคน กรรมการคัดเลือกต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้งและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี”

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 มิได้มีบทบัญญัติรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงินให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวขาดความต่อเนื่องเมื่อมีกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนเมื่อมีการพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระอันจะทำให้การดำเนินงานตามกฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกับแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มีรายงานว่า พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 259 เพื่อป้องกันการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการคัดเลือกบอร์ด ธปท.ขัดต่อกฎหมาย โดยกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องกรณี ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเป็นคดีเมื่อเดือน มิ.ย. 58 ต่อ นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี้ยบ สืบวงศ์ลี อายุ 58 ปี อดีต รมว.คลัง สมัยพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีเมื่อปี 2551 ระหว่าง นพ.สุรพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง สมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ได้มีการแต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.โดยมิชอบ

คดีดังกล่าวมีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้วินิจฉัยว่าการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/1 และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท. และให้ รมว.คลัง ดำเนินการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.

กำลังโหลดความคิดเห็น