xs
xsm
sm
md
lg

จวกร่างรัฐธรรมนูญไร้ “ธรรมาภิบาล” - สิทธิชุมชนถอยหลัง “คำนูณ” ชี้เลือกตั้งต่างพรรคไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (ภาพจากแฟ้ม)
เวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศ” สปท. “คำนูณ” ตำหนิ กรธ. ออกแบบการเลือกตั้งและที่มานายกฯ ค่อนข้างพิสดาร ทำให้สิทธิการเลือกตั้งของประชาชนหายไป คนที่รัก - พรรคที่ชอบ เลือกต่างกันไม่ได้ พรรคเล็กปิดฉาก ติดล็อกชื่อนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ เสนอหน้าใหม่ไม่ได้กรณีอุบัติเหตุทางการเมือง ด้าน สปท. คนอื่นตำหนิไม่มีคำว่า “ธรรมาภิบาล” แถมความเสมอภาคหลายเรื่องหายไป และเปลี่ยนหมวดสิทธิชุมชนให้ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ถอยหลังลงคลอง

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการและศูนย์การประชุม แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศ” ครั้งที่ 2 เรื่อง พลเมืองและการปฏิรูป โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า สิทธิทางการเมือง กรธ. ออกแบบการเลือกตั้งและที่มานายกรัฐมนตรีได้ค่อนข้างพิสดาร จะเป็นระบบเลือกตั้งที่ประเทศไทยใช้เป็นประเทศแรกในโลก เพราะไม่มีการใช้ระบบนี้ ในระดับประเทศ มีเพียงบางรัฐในประเทศเยอรมนีเท่านั้น อาจจะเป็นวิธีที่ดี กรธ. บอกว่า จะเป็นการบังคับให้ทุกพรรคการเมืองส่งคนดีลงสมัคร เพราะทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แต่ข้อเสียคือ ทำให้สิทธิการเลือกตั้งของประชาชน ผู้มีสิทธิหายไป 1 อย่าง คือ การจะเลือก ส.ส. เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แล้วถ้าแต่ละคนชอบไม่เหมือนกันจะทำอย่างไร เช่น ชอบ ส.ส. เขตคนนี้ แต่จะเลือกอีกพรรคหนึ่งในกรณีของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตรงนี้จะทำอย่างไร

“เวลาลงคะแนนต้องคำนึงถึง 3 อย่าง ตรงนี้ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ การเลือกระบบใบเดียว คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อจะมาจากคะแนนทุกเขตทั่วประเทศ จะทำให้การแข่งขันในเขตสูงมาก แม้จะรู้ว่าแพ้ก็ต้องทุ่มเอาคะแนนในส่วนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตรงนี้พรรคเล็กปิดฉากไปได้เลย ไม่มีเงินส่งลงทุกเขตเพื่อให้ได้คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส่วนคนใหม่ ๆ ตายสนิท ไม่สามารถต่อสู้ได้อย่างสิ้นเชิง ถือเป็นประเด็นจุดอ่อนที่สุดในร่างชุดนี้ ส่วนที่มานายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อไม่เกิน 3 รายชื่อ เมื่อมาถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร จะมีหลักประกันอย่างไร เพราะพรรคที่จะเสนอได้ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส. ในสภา 25 คนขึ้นไป ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยไม่มีการยุบสภา ถามว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องผูกติดกับรายชื่อที่พรรคต่าง ๆ ประกาศเสนอชื่อไว้ก่อน จะไม่มีโอกาสเสนอชื่อคนใหม่ ๆ ได้เลย และจะผูกติดกับรายชื่อเหล่านี้ไปตลอด 4 ปีหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยตรรกะทางการเมือง” นายคำนูณ กล่าว

นางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิก สปท. กล่าวว่า ความเสมอภาคจะเป็นการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ “ความเสมอภาคเฉพาะ” เป็นการเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาส คนพิการ ชาย หญิง เพศสภาพ ซึ่งความเสมอภาคเหล่านี้ดูได้จากการจัดสรรงบประมาณที่จะสะท้อนว่ารัฐบาลมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เวลาเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องมองในอนาคตว่าลูกหลานจะอยู่อย่างไร และต้องดูสภาพสังคมทั่วโลกแล้วทำอย่างไรจะปิดช่องว่างตรงนี้ได้ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจจะต้องใช้อำนาจให้ถูกต้อง

นางถวิลวดี ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ไม่มีคำว่า “ธรรมาภิบาล” แม้แต่คำเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 อนุมาตรา 6 ซึ่งธรรมาภิบาลเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ในการบริหาร เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน แม้ในมาตรา 72 จะมีคำว่า “การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” และเนื้อหาเป็นเพียงนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งจะ “พึงทำ” เมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนมาตรา 159 ก็เขียนบังคับ ครม. แต่ไม่บังคับคนอื่น ๆ หรือหน่วยงานอื่นให้ทำ นอกจากนี้ยังพบว่า “ความเสมอภาค” หลายเรื่องหายไปด้วย เช่น ข้าราชการ ในเรื่องสิทธิการรวมกลุ่มหายไป โดยในปี 50 มาตรา 64 มีการเขียนไว้เพื่อให้ข้าราชการแสดงศักดิ์ศรีของตัวเอง แต่ร่างฉบับนี้หายไปก็ไม่เข้าใจว่าทำไมข้าราชการถึงไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่หายไป ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต่อไปถ้าเกิดปัญหาก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองอย่างเดียว

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีต สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วม ในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก โดยมีตัวอย่างจากคดีมาบตาพุดที่ฟ้องรัฐให้ออกประกาศคุ้มครองเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมถึงงานวิจัยในต่างประเทศก็ยังยืนยันว่าสิทธิชุมชนก่อให้เกิดประโยชน์และได้รับการรับรองว่าจะเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศด้วย ทั้งนี้ กรธ. ได้เปลี่ยนหลักการสิทธิชุมชน โดยเฉพาะในมาตรา 54 ซึ่งตนมีข้อสังเกตถึง 12 ประเด็นที่ไม่สามารถตอบโจทย์ใด ๆ และไม่เห็นด้วยที่ กรธ. ไปเปลี่ยนหมวดสิทธิชุมชนให้ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เพราะจะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 หากมัวแต่รอให้เป็นอำนาจเป็นหน้าที่ของรัฐ ก็จะสร้างพลเมืองที่เฉื่อยชาเพราะมัวแต่รอ เพราะมองว่าเป็นการทำหน้าที่ของรัฐ

“รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 คือ การเดินหน้าพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองอย่างเต็มตัว ในเรื่องสิทธิที่ถูกตัดออกไป ถึงแม้ในเวลานี้จะเป็นช่วงรัฐประหาร แต่ก็ยังมีปฏิบัติการเรียกร้องของชุมชนต่าง ๆ หน้าทำเนียบรัฐบาล แม้จะมีมาตรา 44 ก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสิทธิชุมชนได้หยั่งรากลึกลงไปในสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ กรธ. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ๆ เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นายบัณฑูร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น